4เขตสุขภาพพื้นที่อีสาน โชว์ระบบบริการสาธารณสุขประชาชน หนุนกัญชาทางการแพทย์ต่อ

4เขตสุขภาพพื้นที่อีสาน โชว์ระบบบริการสาธารณสุขประชาชน หนุนกัญชาทางการแพทย์ต่อ

วันนี้ (16 มีนาคม 2566) ที่โรงพยาบาล (รพ.) ขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และคณะผู้บริหาร สธ.ติดตามการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบายให้เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9 และ 10 โดยมี นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 7 นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 8 นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 9 และ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 10 พร้อมด้วยบุคลากร สธ.เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย สธ.ในเขตสุขภาพต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึง 4 เขตสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีความก้าวหน้าทุกพื้นที่ ทั้งการพัฒนาศักยภาพการบริการ การสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยแข็งแรง การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริการการแพทย์ขั้นสูงที่ทำได้ภายในเขตสุขภาพ เช่น ผ่าตัดหัวใจ รักษามะเร็ง รักษาโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้อย่างมาก ส่วนกัญชาและสมุนไพรไทย มีการต่อยอดจากการใช้ทางการแพทย์ไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลาย จนสร้างรายได้ให้กับประชาชนรวมหลายร้อยล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะบุคลากร สธ.มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) มีการพัฒนาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งด้านการแพทย์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุ การบาดเจ็บหลายระบบ ให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการลากลิ่มเลือดผ่านสายสวน (Thrombectomy) รักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี เคมีบำบัด และการผ่าตัด ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาภายใน 6 สัปดาห์ ถึงร้อยละ 96 สามารถผ่าตัดโรคหัวใจแบบเปิด พัฒนาระบบผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ มีทีมปลูกถ่ายอวัยวะประจำการตลอด 24 ชั่วโมง มีการนำศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่มาร่วมดูแลสุขภาพประชาชนตามนโยบาย 3 หมอ รวมทั้งให้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนในการไปโรงพยาบาลได้กว่า 2 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 351 ล้านบาท

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 8 (อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ)
ใช้กลไกเขตสุขภาพในการพัฒนาบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนถึงบริการขั้นสูง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ
เพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ป่วยในเขตด้วยโปรแกรม R8 Anywhere ดูแลผู้ป่วยไร้รอยต่อ มีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์โรคหัวใจถึง 5 แห่ง ที่ รพ.อุดรธานี รพ.สกลนคร รพ.เลย รพ.หนองคาย และ รพ.นครพนม ให้บริการสวนหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ ไม่มีคิว ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการ
ได้มากและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยง 3 หน่วยงาน ให้บริการผู้พิการแบบเบ็ดเสร็จ สามารถตรวจประเมินและออกใบรับรองแพทย์อิเล็คทรอนิกส์เพื่อลงทะเบียนผู้พิการได้ภายใน 1-2 วัน จากเดิม 30 วัน ขณะที่การส่งเสริมกัญชา- กัญชง-สมุนไพร ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครอบคลุม 7 จังหวัด รวม 22 เส้นทาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Ganja R8way สร้างมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท /ปี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการวิจัยทางคลินิกของวัคซีนโควิด 19 HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ จ.นครพนม พัฒนาศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย ภายใต้โครงการ Udon thani Green Medical Town เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสุขภาพในอนาคต

นพ.ภูวเดช กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) เป็นพื้นที่แรกในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ประชาชนเข้ารับบริการที่ใดก็ได้และเปลี่ยนสิทธิการรักษาได้ภายใน 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลศูนย์ 4 แห่ง มีศูนย์โรคหัวใจ สามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด และเปิดศูนย์ Mechanical thrombectomy ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา และ รพ.ชัยภูมิ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการครบทุกโรงพยาบาล โดยในปี 2565 ให้บริการผู้ป่วยกว่า 10,000 รายการ ผู้ป่วยระยะประคับประคองกว่า 1,500 ราย และแผนปัจจุบันกว่า 1,700 ราย โดยมี รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นศูนย์การผลิตตำรับยากัญชาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน รวมทั้งมีเส้นทางท่องเที่ยวและศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ครบทุกจังหวัด

นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 10 (มุกดาหาร ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี) มีผลงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย สธ. อาทิ โครงการ “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน”
เปิดคลินิกรองรับการฟอกไตใกล้บ้านทั้ง 5 จังหวัด, เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาทุกโรงพยาบาลด้วย Smart Refer ทำให้ผู้ป่วยในเขตสุขภาพกว่าร้อยละ 90 ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี พัฒนาศักยภาพด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัด สธ.ที่สามารถ
ผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแดงได้ นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รพ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ได้พัฒนาระบบห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจ PCR ให้กับประชาชน สามารถรายงานผลตรวจได้วันละ 1,500 -2,000 ราย และรับตรวจจากโรงพยาบาลอื่นในจังหวัด โดยมีผลการดำเนินงานตรวจ PCR ได้สูงสุดในเขตฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image