รองผู้ว่าฯ หวั่น โศกนาฏกรรมสาธารณสมบัติ เชื่ออีก 2 – 3 ปี เทคโนโลยีคือตัวตึง ‘แก้ปัญหาเมือง’

รองผู้ว่าฯ หวั่น โศกนาฏกรรมสาธารณสมบัติ เปิดเหตุผลเน้นให้เด็ก ‘เรียนรู้’ เชื่อ อีก 2 – 3 ปี ‘ปัญหาเมือง’ จะถูกแก้ด้วยนวัตกรรมอีกมาก

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ “Opportunity of Youth Development by AI technology under supervision of Bangkok Metropolitan Administration การพัฒนาเยาวชนด้วยปัญญาประดิษฐ์ภายใต้การบริหารของกรุงเทพมหานคร” ในงาน CODING ERA : The Next Wave of Thailand’s Education ยุคโค้ดดิ้ง : คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย โดยมีบุคลากรจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย

นายศานนท์กล่าวว่า เรื่องของ Coding เป็นเรื่องที่สำคัญในอนาคตและเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองอีกด้วย สำหรับกรุงเทพมหานครมี 3 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือการพัฒนาประสิทธิภาพของเมือง เรามีปัญหาในเมืองมากมาย หรือเรียกว่าโศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (tragedy of the commons) คือไม่มีผู้ดูแลสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้ คือทำให้โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัตินี้เป็นเรื่องที่จับต้องได้มากขึ้น

Advertisement

“สิ่งแรกที่ กทม.ดึงเทคโนโลยีมาใช้คือ Traffy fondue ที่ดูเหมือนว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราสามารถบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของเรื่องนั้นๆ หากมีปัญหาตรงจุดใดเราสามารถบอกได้ว่าใครต้องเป็นผู้แก้ไข มากไปกว่านั้นประสิทธิภาพของเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้คนมามีส่วนร่วม และเชื่อว่าภายใน 2 – 3 ปี จะมีการแก้ไขปัญหาของเมืองด้วยนวัตกรรมมากขึ้น” นายศานนท์กล่าว

นายศานนท์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ และเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด

“เพราะเด็กคืออนาคตของเมือง กทม.มุ่งหวังอยากให้การศึกษาเป็นรูปแบบการเรียนรู้ จึงเปิดแอพพลิเคชั่น Open education เปิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น มีการเรียนรู้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีอาสาสมัครมาสอนในเรื่องที่เด็กอยากเรียนตามความสนใจ ซึ่งทำให้การเรียนนั้นน่าสนใจและสนุกมากขึ้น อีกเรื่องที่ทางโรงเรียนสังกัด กทม.จะต่อยอดคือการเรียนรู้แบบ Project based learning คือการที่นักเรียนนำปัญหาให้ห้องเรียนมาสร้างเป็นนวัตกรรม เช่น นักเรียนทำเซ็นเซอร์แจ้งเตือนระดับน้ำส่งข้อมูลไปทางสำนักงานเขตโดยตรง ซึ่งตอนนี้มีการนำร่องไปแล้ว 12 โรงเรียน การเรียนรู้แบบนี้เป็นรากฐานการต่อยอดในอนาคต Coding หรือนวัตกรรมจะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก ซึ่ง กทม.มีนโยบาย ‘อาสาสมัครเทคโนโลยี’ ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ส่งเสริมชุมชนให้มีความเท่าทันเทคโนโลยี” นายศานนท์กล่าว

Advertisement

 

นายศานนท์กล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้าย คือการดึงคนเก่งเข้ามาในเมือง เด็กรุ่นใหม่ที่ดูจะหมดหวังกับกรุงเทพมหานคร หรือประเทศชาติ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้รู้ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ติดปัญหาตรงไหน และเขาช่วยแก้ปัญหานั้นได้ไหม ทาง กทม.มีนโยบาย ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่นำปัญหาที่อยากแก้มาอยู่ในพื้นที่ระดับนโยบาย ขณะนี้มีผู้สนใจส่งไอเดียมามากกว่า 100 ไอเดีย จะเห็นว่าหากเราเปิดโอกาสให้เยาวชนมีบทบาทใน กทม.จะทำให้เยาวชนกลับมามีความหวังต่อเมืองมากขึ้น

สำหรับงาน CODING ERA : Next Wave of Thailand’s Education ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย เป็นมหกรรมครั้งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ด้าน Coding รวมถึงมีการแสดงผลงานการวิจัยด้าน Coding AI และวิทยาการหุ่นยนต์ รวมทั้งยังเป็นเวทีสำหรับการประชุมวิชาการที่รวบรวมผู้มีทักษะ Coding ชั้นสูง และกลุ่มนักวิจัยทั่วประเทศ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และผู้ที่สนใจในการบ่มเพาะทักษะและสมรรถะด้าน Coding ให้สามารถนำไปใช้ ต่อยอดได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ระหว่างวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 -19.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image