ปลัด สธ.ชี้ “ซีเซียม-137” ตกค้างในร่างกาย-สิ่งแวดล้อมนาน 30 ปี เล็งเฝ้าระวัง 3 กลุ่มป่วย

ปลัด สธ.ชี้ “ซีเซียม-137” ตกค้างในร่างกาย-สิ่งแวดล้อมนาน 30 ปี เล็งเฝ้าระวัง 3 กลุ่มป่วย

วันนี้ (20 มีนาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการค้นพบวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” เมื่อคืนวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สูญหายไปนานกว่า 10 วัน ซึ่งอยู่ในโรงหลอมเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ว่า ล่าสุด นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปราจีนบุรี ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารรสุข หรือ อีโอซีส่วนหน้า เพื่อประสานงานกับอีโอซีส่วนกลาง พร้อมติดตามสถานการณ์ในประเด็นด้านสุขภาพของประชาชน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้มีโอกาสที่จะสัมผัสรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

“อย่างไรก็ตาม สารซีเซียม-137 เป็นสารพิษมีความอันตราย แต่ความเข้มข้นน้อยกว่าสารโคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 ที่ขณะนั้น มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ประสบภัยส่วนหนึ่ง เนื่องจากสารกัมมันตรังสี เป็นสารที่ไม่มีสี กลิ่น รส มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด ทั้งนี้ ความอันตรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ 1.ความเข้มข้นที่สัมผัสสาร 2.ระยะเวลาสัมผัสสาร และ 3.ระยะห่างในสัมผัสสาร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของผู้สัมผัสอย่าคิดว่าร่างกายแข็งแรงแล้วจะไม่เป็นอะไร เพราะอาการนี้ ขึ้นอยู่กับความข้มเข้นในการสัมผัส” นพ.โอภาส กล่าว

ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กำลังตรวจสอบเรื่องการกระจายของสารซีเซียม-137 นี้ว่ามีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทั้งนี้ ในทางสาธารณสุขจะต้องเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวม 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มอาการทางผิวหนัง เนื้อเยื่อ โดยจะมีตุ่มน้ำใส รวมถึงเนื้อตาย 2.กลุ่มอาการทั่วไป เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง และ 3.กลุ่มความผิดปกติเฉพาะ เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติในผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว เช่น เส้นผม ซึ่งจะต้องเร่งสอบสวนสาเหตุ

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยใน 3 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งเราจะต้องไปทบทวบระบบเฝ้าระวังและความตระหนักของประชาชนด้วย ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว แพทย์จะใช้ดุลยพินิจรักษาตามอาการ แต่ก็ไม่ควรรักษาปะปนกับผู้ป่วยกลุ่มคนอื่น” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สารซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิตของสสารที่อยู่ในร่างกายและสิ่งแวดล้อม คือ กว่าสารดังกล่าวจะสลายไปร้อยละ 50 ใช้เวลาถึง 30 ปี ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพของประชาชน เพื่อหาสารปนเปื้อนในปัสสาวะ ต้องอาศัยอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการตรวจโดย ปส.ทั้งนี้ ด้านสาธารณสุขจะเฝ้าระวังใน จ.ปราจีนบุรี จนกว่า ปส.จะประกาศว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ปกติแล้ว คือจะต้องตรวจสอบได้ว่าสารกัมมันตรังสีหมดไป หรือถูกเก็บเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image