จิตแพทย์ชี้กราดยิงเกิดซ้ำอีก หากบทเรียนไม่นำไปสู่การปฏิบัติ วอนสื่อเสนอข่าวอย่างระวัง

จิตแพทย์ชี้กราดยิงเกิดซ้ำอีก หากบทเรียนไม่นำไปสู่การปฏิบัติ วอนสื่อเสนอข่าวอย่างระวัง

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากเกิดเหตุกราดยิงในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และล่าสุดมือยิงถูกจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมด้วย

ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า

กรณีกราดยิงจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก…หากบทเรียนไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ในกลุ่มผู้มีอำนาจครองอาวุธปืนยังคง
ใช้มาตรการจัดการเชิงวินัย…นำมาตรการดูแลสุขภาพ ซึ่งผมได้ให้สัมภาษณ์สื่อในหลายช่องทาง มีประเด็นที่ต้องตระหนักและต้องเร่งปฏิบัติ ดังนี้

Advertisement

1.ปัญหาความรุนแรงที่เกิดบ่อยครั้งในกลุ่ม ทหาร ตำรวจ และบุคลากรรัฐที่มีอาวุธปืน ทั้งกับตนเอง โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายและทำร้ายผู้อื่น ยิ่งเฉพาะการกราดยิงที่เป็นข่าวอยู่ประจำ นั่นสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตของกำลังพล และโอกาสในการปรับปรุงระบบการดูแลบุคลากรในองค์กร ซึ่งระบบที่ผ่านมามักจัดการปัญหาด้วย การใช้มาตรการเชิงวินัย ใช้การปกครองนำซึ่งนอกจากจะไม่แก้ปัญหาของบุคลากรที่มีปัญหาสุขภาพจิตแล้วยังส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมด้วย การปรับปรุงระบบดังกล่างต้องครอบคลุมถึง

▶️ การคัดกรอง และให้ความช่วยเหลือผู้เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพกำลังพล
▶️การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ (ระดับจังหวัด) เพื่อให้การดูแลมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
▶️ การทบทวน กฎระเบียบ ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

2.ปัญหาอาวุธปืนในมือของกำลังพลที่ถูกใช้ในทางที่ผิดจะต้องปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน
▶️ อาวุธปืนจะต้องเป็นของหน่วยงาน และมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ให้ยกเลิกระบบปืนสวัสดิการ
▶️ เมื่อบุคลากรมีปัญหาจะต้องไม่ให้มีอาวุธปืน เพื่อเป็นการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และชุมชน

Advertisement

3.การนำเสนอข่าวจะต้องไม่ drama เช่น การเสนอภาพอย่างตื่นเต้น การรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอภาพข่าวคนมุงดูเหตุการณ์ และส่งเสียงเชียร์ต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่สมควร เช่น ผู้สูญเสียญาติในเหตุการณ์ โดย ทาง กสทช. ควรมีการตักเตือนลงโทษการเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม ควบคู่กับการให้แนวทางการเสนอข่าวที่เหมาะสมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการเสนอข่าวที่นำไปสู่ drama ในทางจิตวิทยาส่งผลให้เกิดความชินชา กับความรุนแรงในสังคมและอาจทำให้เกิดการเลียนแบบ และลดความยับยั้งชั่งใจของผู้ที่มีปัญหา

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ เข้มแข็ง และมีคุณภาพ ยิ่งบุคคลที่อยู่ในสายความมั่นคง ต้องดูแลมากกว่าคนทั่วไป ตั้งแต่ด้านการป้องกัน เช่น การคัดกรองสุขภาพจิตร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีของบุคคลในสถานประกอบการ ในบุคคลที่ป่วยแล้วต้องได้รับการรักษาไม่ใช่เพียงแค่จ่ายยา ต้องมีการดูแลด้านสังคมจิตใจร่วมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image