แพทย์ แนะพ่อแม่สังเกตอาการเด็กเล็ก “ตัวร้อนเหงื่อไม่ออก” เสี่ยงเกิดฮีทสโตรก

แพทย์ แนะพ่อแม่สังเกตอาการเด็กเล็ก “ตัวร้อนเหงื่อไม่ออก” เสี่ยงเกิดฮีทสโตรก เผย ค่อย ๆ ดื่มน้ำเย็นหลังตากแดดได้ ไม่อันตราย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.ประวิทย์ เจตนชัย นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาล (รพ.) เด็กฯ กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนจะตรงกับช่วงที่เด็กปิดเทอม ดังนั้นจะต้องดูแลเด็กให้ปลอดภัยจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นถาวะฉุกเฉินจากการอยู่ในสภาพอาการศที่ร้อนจัด ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไป ส่วนใหญ่จะสูงกว่า 40 องศา ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ก็จะกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ 1.อายุ ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเพราะร่างกายระบายความร้อนออกได้ไม่ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง แล้วไม่ได้ระวังตัว 2.การสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป และ 3.ผู้ป่วยบางรายมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคทางสมอง โรคอ้วน หรือแม้กระทั้งผู้ดื่มแอลกอฮอล์ หากภาวะร่างกายขาดน้ำ ทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดี ก็จะไปกระทบต่อระบบต่าง ๆ ทำให้ขาดเลือดได้ ทั้งนี้ หากประชาชนที่อยู่กลางแจ้งนาน ๆ แล้วร่างกายมีความร้อน สามารถดื่มน้ำเย็นได้ เพราะร่างกายปรับอุณหภูมิได้ แต่จะต้องค่อย ๆ ดื่ม ไม่รีบดื่มน้ำนพ.ประวิทย์ กล่าวว่า อาการสังเกตเด็กที่เป็นฮีทสโตรก จะมีไข้ขึ้นสูง ตัวแดง อากาศร้อนแต่ไม่ค่อยมีเหงื่อไหล บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว บางรายมีผลที่ระบบประสาทก็อาจสับสน ชักไปจนถึงหมดสติได้ อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องพยายามลดอุณหภูมิร่างกาย ด้วยการนอนราบในที่ร่ม ยกขาสูง คลายเสื้อผ้าออก เช็ดตัวด้วยน้ำ และเน้นตามข้อพับตาม ๆ และสามารถดื่มน้ำได้ มีอาการรุนแรงให้แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อส่งมารักษาที่ รพ. ทั้งนี้ ในรายที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วอาการดีขึ้น ก็ยังอยากให้มาพบแพทย์เพื่อเช็กร่างกายอีกครั้ง โดยการรักษาผู้ป่วยฮีทสโตรกเมื่อถึงมือหมอ จะรักษาตามอาการ ขึ้นอยู่กับระบบร่างกายที่ได้รับผลกระทบ บางรายมีอาการกลุ่มเนื้อลายสลายตัว อาการไตวาย

“คำแนะนำสำหรับการเลี่ยงอาการฮีทสโตรก คือการเลี่ยงเข้าที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ชอบเล่นกลางแจ้ง และระวังการลืมเด็กไว้ในรถ แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่พ่อแม่จะต้องระวังมากๆ ส่วนการสวมเสื้อผ้า ให้สบาย ๆ ไม่หนาเกินไป และสำคัญให้ดื่มน้ำตลอดวันอย่างเหมาะสม ส่วนการดื่มน้ำหวาน จะต้องระวังเรื่องของโรคอ้วนด้วย โดยเฉพาะเด็กไม่ควรดื่มน้ำหวานมากเกินไป เพราะเด็กปิดเทอมมักจะดื่มน้ำหวาน กินขนมด้วย” นพ.ประวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image