สธ. จับมือ ตร. เข้มวินัยขับขี่ช่วงสงกรานต์ ตั้งด่านทั่วไทย พร้อมสอบย้อนกลับเคสอุบัติเหตุ ‘เด็กก๊งเหล้า’ เอาผิดร้านขาย-คนสนับสนุน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าวสงกรานต์ 2566 ยึดหลัก “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่า ช่วงสงกรานต์ที่เป็นการท่องเที่ยวทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ทั้งนี้ สธ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เน้นย้ำเรื่องการใช้รถใช้ถนนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ควบคู่กับการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 รวมถึงป้องกันโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม สงกรานต์ปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าโดยเครื่องตรวจทางลมหายใจได้ ซึ่งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ขับขี่ร้อยละ 52.6 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าการดื่มแล้วขับยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบสังคม โดยปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน คือ ด่านตัวเอง ต้องเน้นย้ำเรื่องดื่มต้องไม่ขับ, ด่านครอบครัว ผู้ขับขี่ต้องมีความพร้อมก่อนเดินทาง นอนให้เพียงพอ และการสวมหมวกกันน็อค และด่านชุมชน ที่จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คัดกรองอาการมึนเมาของผู้ขับขี่ที่ด่านชุมชน สกัดไม่ให้เกิดการดื่มแล้วไปใช้ถนน เนื่องจากอุบัติเหตุมักเกิดในถนนสายรอง จัดอบรมการกู้ชีพฉุกเฉิน (CPR) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและลดการสูญเสียได้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ก่อนที่จะมีโควิด-19 แต่ละโรงพยาบาล (รพ.) จะรับผู้ป่วยวันละ 25,000 ราย หากช่วงเทศกาลก็จะเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 3,500 ราย โดยมีการคาดการณ์ว่าสงกรานต์ปี 2566 จะมีการเดินทางมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงสั่งการให้ รพ.ในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ประสานการทำงาน 24 ชั่วโมง พร้อมสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (ALS) ประจำเส้นทางสายหลักที่มีจุดตรวจหรือจุดบริการอยู่ห่างกัน เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรับบริการที่ รพ.ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ และให้ รพ.ทุกแห่งจัดเตรียมบุคลากร ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู รวมทั้งระบบส่งต่อ สนับสนุนการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุและไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล ซึ่งมีการปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉิน 2 ชั้น มีกล้องวงจรปิด มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ที่โดยปกติจะมาถึงที่เกิดเหตุใน 10-15 นาทีด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปี 256-2564 มีผู้เสียชีวิตลดลง เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด แต่ในปี 2565 พบว่าตัวเลขเริ่มเพิ่มขึ้น ประมาณ 26.65 ต่อแสนประชากร เป็นสัญญาณเตือนปัญหาการดื่มแล้วขับ จึงต้องกำชับเรื่องขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และเวลาห้ามขาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 จึงย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกปฏิบัติการเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือนและบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ขายสุราในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะของทางราชการ การขายในเวลาห้ามขาย รวมทั้งการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี“หากพบผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา กรมควบคุมโรคจะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย พร้อมทั้งแจ้งไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนด้วย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งพบการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับมากที่สุด และหากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค โทร 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ได้ตลอด 24 ชม.” นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า สสส. ขอเชิญชวน รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ “พ่อที่รัก” สะท้อนผลกระทบถึงคนรอบข้าง และคลิปเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศร เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 2,000 แห่ง ร่วมรณรงค์-ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย สงกรานต์ 2566 ดื่มไม่ขับ” โดยมีพื้นที่ทำงานเข้มข้นใน 115 ตำบล รวมถึงจัดพื้นที่นำร่อง และขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และตลอดปี 2566 ได้เตรียมการดำเนินการเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุร่วมกับอำเภอที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กว่า 200 อำเภอ หวังช่วยภาพรวมของประเทศ ลดความสูญเสีย ขอชวนคนไทยทุกคนใส่ใจการขับขี่อย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทางขณะที่ พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า สงกรานต์นี้ สตช. ได้ระดมกำลังตำรวจทุกหน่วย รวมกว่า 30,734 นาย ประจำจุดตวจวัดแอลกอฮอล์ 1,637 จุด จุดขวดขันวินัยจราจร 2,183 ชุด พร้อมจัดเป็นเคลื่อนที่เร็ว 2,072 ชุด ประจำเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และเส้นทางเสริม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ประชาชน พร้อมเน้นย้ำบังคับใช้กฎหมายเข้มโดยเฉพาะกรณีเมาแล้วขับ อย่างไรก็ตาม กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนแล้วเกี่ยวข้องการกับดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีการสอบสวนย้อนกลับว่าซื้อมาจากที่ไหน หรือไปดื่มจากที่ไหนมา ซึ่งผู้ที่สนับสนุนให้เด็กดื่มแล้วออกมาเกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image