แพทย์เชี่ยวชาญชี้ ‘ก้อนเลือดแห้งในสมอง’ เกิดมากในกลุ่มสูงวัย แถมสังเกตอาการยาก

แพทย์เชี่ยวชาญชี้ “ก้อนเลือดแห้งในสมอง” เกิดมากในกลุ่มสูงวัย แถมสังเกตอาการยาก

วันนี้ (10 เมษายน 2566) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบผู้ป่วยมีภาวะ “ก้อนเลือดแห้งในสมอง” ว่า สำหรับอาการก้อนเลือดแห้งในสมอง สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป มีอุบัติการณ์เกิดทั้งในและต่างประเทศ จะพบมากในกลุ่ม ส.ว. หรือ ผู้สูงวัย

“เพราะเมื่ออายุมากขึ้น เส้นเลือดดำที่ขึงตึงในกะโหลกอาจเสื่อมหรือฝ่อ เมื่อเวลาที่สมองถูกกระแทก แม้ไม่ได้กระแทกรุนแรง ก็ทำให้เส้นเลือดดำที่ขึงอยู่มีเลือดรั่วซึมออกมาอยู่บริเวณผิวสมองที่ใต้เยื่อหุ้มสมอง และด้วยเป็นเส้นเลือดดำ แรงดันเลือดน้อย เลือดก็จะค่อยๆ ซึมออกมา แล้วจะหยุดไหลเอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในการดูดซึมเลือดให้หายไป จากนั้นจะเหลือเป็นน้ำโปรตีนข้นๆ ที่บางครั้งก็อาจขยายตัวได้ โดยขณะนั้นเอง คนไข้อาจไม่มีอาการใดๆ เลย ทำให้ไม่รู้ตัวว่ามีน้ำโปรตีนอยู่ใต้เยื่อหุ้มสมอง แต่กรณีที่ขยายตัวใหญ่มาก ก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ เช่น ปวดศีรษะ บางรายมีอาการคล้ายลมชัก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า การจะตรวจดูว่ามีก้อนน้ำโปรตีนในสมองหรือไม่ ต้องใช้คอมพิวเตอร์สมองตรวจดู จากนั้นต้องประเมินความจำเป็นในการรักษาด้วยการเจาะระบายน้ำออก ซึ่งต้องดูเป็นรายๆ ไป บางรายที่ไม่กระทบการทำงานของสมอง เพราะสมองมีการปรับตัวได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเจาะระบายออก

Advertisement

“เลือดที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในเนื้อสมองจริง แต่กองอยู่ที่ผิวสมอง ทั้งนี้ ความร้อนก็มีส่วนในการทำให้น้ำโปรตีนขยายตัวหรือหดเล็กลงได้ หรือความร้อนอาจทำให้คนไข้หมดสติ จากนั้นเมื่อไปตรวจ ก็อาจเจอว่ามีน้ำโปรตีนในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งนั้นต้องดูให้ละเอียดว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง และมีความจำเป็นต้องเจาะออกหรือไม่ ต้องดูเป็นรายๆ ไป” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ลำดับอาการที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มีวิธีสังเกตอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า อาการไม่ได้เกิดเฉียบพลัน แต่ต้องดูว่ามีการตกเลือดซ้ำซ้อนในผิวสมองหรือไม่ เพราะจะทำให้น้ำโปรตีนขยายตัวขึ้นเร็ว ซึ่งหากสมองปรับตัวไม่ทัน ก็ทำให้เกิดอาการฟ้องขึ้นมา ส่วนการระวังตัวของผู้สูงอายุไม่ให้เกิดความเสี่ยง เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะแม้จะล้มแล้วเอาลำตัวลง ก็สามารถสะเทือนถึงเส้นเลือดดำในสมอง ทำให้เลือดรั่วซึมๆ ออกมาได้เช่นกัน รวมถึงบางรายเมื่อสูงอายุก็จะเริ่มกินยาป้องกันเส้นเลือดตีบ ฉะนั้น เมื่อมีเลือดซึมออกมา ทำให้เลือดไหลไม่หยุด ยิ่งทำให้เลือดออกมากองที่ผิวสมองมากขึ้น ดังนั้น การกินยาเส้นเลือดตีบ ไม่ว่าจะหัวใจหรือสมองเพื่อป้องกันไม่ให้ตันนั้น ต้องมีข้อบ่งชี้และอยู่ในการประเมินของแพทย์เสมอ

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สำหรับอาการเลือดออกในสมองนั้น มีทั้งแบบอาการค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่กล่าวมา และอีกแบบ คือ เลือดออกเฉียบพลันจากการถูกกระแทกรุนแรง เช่น ล้ม หรือถูกตีศีรษะ ซึ่งทำให้คนไข้ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนตำแหน่งที่ถูกกระแทก หากเกิดที่ขมับ ที่กะโหลกบางและมีเส้นเลือดแดงอยู่ ก็ทำให้เส้นเลือดแดงแตกบนเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งจะเป็นคนละกรณีกับเส้นเลือดดำ ดังนั้น เส้นเลือดแดงแตกอาการจะเกิดขึ้นเร็ว และในช่วงแรกที่ถูกกระแทกอาจจะไม่เจอความผิดปกติในคอมพิวเตอร์สมอง เพราะเลือดแดงจะค่อยๆ ซึมและออกมาเร็วในระยะหลัง ฉะนั้น ต้องให้นอนดูอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image