สบยช.เตือนเทศกาลสงกรานต์รับผิดชอบสังคม “ดื่มต้องไม่ขับ” เด็ดขาด

สบยช.เตือนเทศกาลสงกรานต์รับผิดชอบสังคม “ดื่มต้องไม่ขับ” เด็ดขาด

วันนี้ (11 เมษายน 2566) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีวันหยุดยาว ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำงานไกลบ้าน มักจะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนกับครอบครัวและอาจมีการรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเมื่อมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หรือเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน บางรายบาดเจ็บ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต

“นอกจากนี้ ภายหลังจากการดื่มอย่างหนัก ตื่นมาจะมีอาการเมาค้าง ทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ทั้งนี้ การดื่มสุรายังเกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ย้ำเตือนทุกคนที่ต้องขับขี่ยานพาหนะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ เตรียมความพร้อมของรถโดยการตรวจเช็คสภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุราก่อนขับรถโดยเด็ดขาด การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ การเมาแล้วขับยังมีความผิดที่ต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ฝากถึงผู้ที่ชื่นชอบการดื่มสุราต้องมีความรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคมให้มาก

Advertisement

“ไม่เพียงแต่เมาไม่ขับ แต่หากมีการดื่มต้องไม่ขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาด ทุกคนในครอบครัวควรหมั่นดูแล
ซึ่งกันและกัน คอยบอกคอยเตือน คอยสังเกตพฤติกรรม และพึงระลึกไว้เสมอว่าอย่าให้ชีวิตต้องตกอยู่ในความยากลำบากเพียงเพราะความสนุกจากการดื่มสังสรรค์เท่านั้น ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาล (รพ.) ธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี รพ.ธัญญารักษ์สงขลา และ รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.pmnidat.go.th” นพ.สรายุทธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image