ศูนย์จีโนมฯ เผยโควิด-19 พันธุ์ผสม XBB.1.16 มาพร้อมอาการใหม่! ‘เยื่อบุตาอักเสบ’ ไทยป่วยแล้ว 6 ราย

ศูนย์จีโนมฯ เผยโควิด-19 พันธุ์ผสม XBB.1.16 มาพร้อมอาการใหม่! “เยื่อบุตาอักเสบ” ไทยป่วยแล้ว 6 ราย ส่วนสถานการณ์ระบาดในประเทศยังไม่น่าห่วง หลังสงกรานต์ ตรวจ ATK เท่าที่จำเป็น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์จีโนมฯ ได้ติดตามข้อมูลจากจีเสส (GISAID) ที่รวบรวมการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอินเดีย ซึ่งมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ “T547I” แต่ทางศูนย์จีโนมฯ ยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ป่วยที่เจอในไทยมีอาการอย่างไรบ้าง แต่ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า อาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 คือ ในผู้ป่วยเด็กจะพบอาการ เยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้น จะไม่มีหนอง และลักษณะของการอักเสบก็จะแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลดังกล่าวศูนย์จีโนมฯ จึงอยากให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ข้อมูล และเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรแพทย์ที่ตรวจรักษา อาจต้องสังเกตอาการเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสเพิ่มเติมด้วย

เมื่อถามว่าช่วงสงกรานต์อาจจะมีประชาชนเล่นน้ำทำให้เจ็บตา จะเกิดความตื่นตระหนกหรือไม่ และจำเป็นต้องตรวจ ATK หลังสงกรานต์หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ วสันต์กล่าวว่า สำหรับอาการสำคัญคือ ไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นจะเกิดเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่มีหนอง เพราะไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย และได้เน้นย้ำว่า ประเทศที่พบสายพันธุ์ XBB.1.16 มาก แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ. ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ยิ่งประชาชนตระหนักรู้มากเท่าไหร่ การเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ส่วนการตรวจ ATK หลังสงกรานต์ สามารถตรวจได้ตามความจำเป็น เพราะสถานการณ์ติดเชื้อในไทยอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการติดเชื้อประปรายแต่ผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ. ยังมีจำนวนน้อย

วันเดียวกัน เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความระบุว่า “ด่วน! ระวังการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อ XBB.1.16.1 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้วในไทย 1 ราย ด้วยการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ดึงมาจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” โดยทีมวิจัยของ ดร.ราช ราชนรายานันท์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา โดย XBB.1.16.1 จะมีการกลายพันธุ์ต่างจาก XBB.1.16 ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ “T547I”

Advertisement

ในขณะเดียวกัน ดร.วิพิน ม.วาชิษฐา (Dr. Vipin M. Vashishtha) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเด็กเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่ง ดร.วาชิษฐาได้สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารกจะพบมีอาการไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง (เพราะติดเชื้อไวรัสไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย) ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้นแต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image