กรมฯทะเล โชว์ปักแนวไผ่กันคลื่น ผุดป่าชายเลนธรรมชาติยาวกว่า 100 ม. ลดงบกว่า 100 ล.

กรมฯทะเล โชว์ปักแนวไผ่กันคลื่น ผุดป่าชายเลนธรรมชาติยาวกว่า 100 ม. ลดงบกว่า 100 ล.

วันนี้ (20 เมษายน 2566) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดย นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมด้วย นายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง (ผอ.กอช.) และคณะเจ้าหน้าที่ ทช. ลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ที่บ้านเกาะแมว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

นายภุชงค์กล่าวว่า การบริหารจัดการป่าชายเลนภาคตะวันออก มีการทวงคืนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่มีความพยายามอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2558 ที่เริ่มตั้งสำนักทรัพยากรฯ ที่ 1-7 ปัจจุบันดำเนินคดีแล้วกว่า 300 คดี ทวงคืนพื้นที่ป่าได้กว่า 5 หมื่นไร่ โดยเมื่อคดีสิ้นสุดลง ทางสำนักงานทรัพยากรฯ ต้องทลายคันดินเพื่อปลูกป่าคืน และต้องบำรุงต่อ 5 ปี รวมถึงมีการทำโครงการปักแนวไม้ไผ่ชะลอการกัดเซาะของคลื่นทะเล

Advertisement

“เราได้สร้างความร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างกำแพงมนุษย์ดูแลพื้นที่ป่า วัตถุประสงค์เพื่อขอประกาศขอบเขตให้เป็นป่าชายเลนอนุรักษ์เพิ่มเติม เพื่อให้ชุมชนสามารถกำหนดการพัฒนาและข้อห้ามต่างๆ รวมถึงการทำเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ชุมชน และเพื่อลดการบุกรุกเพิ่มเติม” นายภุชงค์กล่าว

ด้านนายปรานต์กล่าวว่า พื้นที่หมู่บ้านเกาะแมว หมู่ 14-16 เดิมมีปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งระดับกลาง อัตราการกัดเซาะประมาณ 2-5 เมตรต่อปี สำคัญคือ เดิมไม่มีป่า มีแต่พื้นที่ทะเล ส่งผลให้ถนนพังจากน้ำทะเลรุกล้ำ โดยเมื่อปี 2556 ทช.ได้ทำโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) ต่อมาปี 2558 ได้ทำเพิ่มอีก 2 กม. รวมเป็นระยะทาง 3 กม. ครอบคลุมทั้งพื้นที่แล้ว ซึ่งขั้นตอนการปักแนวไม้ไผ่ ใช้ลำไผ่สูง 5 เมตร มีรัศมี 3 นิ้ว ระยะทาง 1 กม. ใช้ไม้ไผ่ 35,000 ลำ หรือเฉลี่ยตารางเมตรละ 35 ลำ โดยทั้งหมดได้ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาและหาไม้ไผ่ที่มีขนาดเหมาะสม ไม่แตกหัก วิธีการปักไม้ไผ่ จะต้องปักลงพื้นดินลึก 2 เมตรครึ่ง โดยระยะห่างแต่ละลำ ไม่ให้ชิดเกินไป เพื่อป้องกันการกระทบกัน ปักสลับฟันปลา 5 แถว อย่างไรแล้ว ขั้นตอนการปักไม้ไผ่จะขึ้นอยู่กับสภาพดิน ลมทะเล รวมถึงพันธุ์ไม้ตามธรรมชาติในพื้นที่ด้วย ส่วนอุปสรรคของการเกิดตะกอนดิน คือบางพื้นที่มีการประกอบอาชีพ มีเรืออวนรุน มีการทำนากุ้ง ที่รบกวนการเกิดตะกอนดิน จึงจำเป็นต้องปัก 2 แนว เพื่อลดอุปสรรคการงอกของแนวป่า ฉะนั้น ภาพรวมของการปักแนวไม้ไผ่ ถ้าอยู่ในพื้นที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งรบกวน ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกเสริม ป่าสามารถขึ้นเองตามธรรมชาติได้ และป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติได้อย่างดี

Advertisement

“ล่าสุด มีการสำรวจพื้นที่เกาะแมว ที่ได้เริ่มปักแนวไม้ไผ่ตั้งแต่ปี 2558 พบว่า สภาพป่าจากเดิมที่มีเพียง 20 ไร่ เพิ่มขึ้นใหม่ 190 ไร่ รวมเป็น 210 ไร่ มีตะกอนดินโคลนอัดแน่นมากกว่า 70-80 เซนติเมตร ถือเป็นพื้นที่แสดงให้เห็นว่า การปักไม้ไผ่ด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้งบประมาณกิโลเมตรละ 3 ล้านบาท สามารถทำให้เกิดป่าโดยธรรมชาติได้ ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำเขื่อนกันคลื่นที่มีค่าใช้จ่ายกิโลเมตรละร้อยล้านบาท ความสำเร็จที่เกิดขึ้น วัดได้จากแนวไม้ไผ่ที่ปักไปเมื่อปี 2558 ปัจจุบันไม้ไผ่เหล่านั้นอยู่กลางป่าแล้ว เพราะมีพื้นที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้นวัดระยะทางจากถนนถึงทะเลไปกว่า 100 เมตร” นายปรานต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายปรานต์กล่าวว่า โครงการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เป็นการพัฒนาร่วมกับชุมชนบ้านเกาะแมว ผ่านการตั้งผู้แทนชุมชน สอบถามความเห็นเพื่อลดผลกระทบในการใช้พื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งจะมีการเปิดช่องให้เรือเข้าออกเป็นระยะ จึงไม่กระทบความเป็นอยู่กับชาวบ้าน โดยพื้นที่ป่าชายเลนของบ้านเกาะแมว มีพันธุ์ไม้แสม เป็นไม้เบิกนำ และมีพันธุ์โกงกางบางส่วน แต่ในอนาคต โกงกางอาจเข้ามาแทนที่เพราะมีอายุที่ยืน และยึดดินตะกอนได้ดีกว่า

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่ต้องปักไม้ไผ่เพิ่มแล้ว เพราะดินยึดติดตะกอนเองแล้ว ซึ่งจะรุกคืบป่าชายเลนออกไปมากขึ้นกว่าเดิม โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์ คือ อาชีพประมง เพราะถ้าไม่มีป่า สัตว์น้ำจะหายไป แต่เมื่อมีป่า ก็เริ่มมีสัตว์น้ำ ชาวบ้านก็ทำอาชีพ เราจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจพื้นที่พบว่า ชาวบ้านพอใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งนี้ หลังจากมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์แล้ว เรายังคงต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการช่วยกันอนุรักษ์ให้ป่าชายเลนยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ต่อไป เนื่องจากมีบางระยะของป่ามีกรรมสิทธิ์อยู่ เราก็ต้องขอความร่วมมือไม่ให้ถางป่า” นายปรานต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image