พีเอ็ม 0.1 ยิ่งเล็กยิ่งอันตราย รับมือฝุ่นจิ๋ว ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

พีเอ็ม 0.1 ยิ่งเล็กยิ่งอันตราย
รับมือฝุ่นจิ๋ว ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

ปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานไปมากจนทำให้บางพื้นที่ของประเทศไทยติดอันดับสูงที่สุดในโลกติดต่อกันหลายวัน สร้างความกังวลใจให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เลวร้าย ซึ่งนับวันจะเพิ่มความรุนแรงและใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ก่อปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้หลายฝ่ายต้องหันมาตระหนักและร่วมมือกันหามาตรการในการป้องกัน และรับมือกับฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน หรือ Haze Free Thailand ซึ่งมีการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ ฝุ่น PM2.5 จะมีความแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย

Advertisement

ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะทุกคนยังต้องหายใจ ซึ่งล้วนแต่ต้องการอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้ปอดและร่างกายสามารถทำงานได้อย่างยืนยาวและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันประชาชนมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น รู้ถึงที่มาแหล่งกำเนิด และสาเหตุที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 ถูกพัดพาเข้ามาและสะสมในพื้นที่ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของอุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิประเทศ

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนา DustBoy ขึ้นตั้งแต่ปี 2560 โดยมุ่งเน้นให้เป็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีราคาถูก เพื่อให้สามารถกระจายการติดตั้งได้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ได้มากที่สุด เนื่องจากในขณะที่ยังไม่สามารถจัดการกับต้นตอหรือแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ได้ ประชาชนก็ยังสามารถที่จะรู้ข้อมูลในการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละช่วงเวลาได้

Advertisement

ปัจจุบัน DustBoy มีการติดตั้งไปแล้ว 700 จุดทั่วประเทศ และมีความร่วมมือกับเครือข่ายเซ็นเซอร์จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยในการส่งข้อมูล PM2.5 หรือจุดความร้อนจากพื้นที่ป่าหรืออุทยานฯ ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 หรือว่าไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก DustBoy และเครือข่าย ปัจจุบันมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพัฒนาโมเดลในการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ปัจจุบันสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-5 วัน ได้อีกด้วย

ด้าน ดร.นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลนวัตกรรมดิจิทัล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ในภาคใต้ว่า จะต่างจากภาคอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่าและฝุ่นควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไฟไหม้ใหญ่ที่ป่าพรุควนเคร็งใน จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญ ซึ่ง วช.ได้สนับสนุนให้ทีมวิจัยจาก มอ.และ ม.เกษตรศาสตร์ เข้าไปทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพในเขตพื้นที่ภาคใต้ใน 3 จังหวัดที่ติดกับป่าพรุควนเคร็ง พบว่าการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจกับโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่เกิดไฟไหม้ป่า โดยมีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น และที่เป็นกังวลคือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองที่มีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้ โดยกลไกการเกิดโรคจากไฟไหม้ป่าพรุจะเกิดจากการอักเสบของร่างกาย ซึ่งหากเกิดกับอวัยวะใดก็จะทำให้เกิดโรคกับอวัยวะนั้น ส่วนกรณีหมอกควันข้ามแดนมีการศึกษาคล้ายกับกรณีป่าพรุควนเคร็ง พบว่ามีอัตราการเกิดโรคคล้ายกัน แต่ที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ในระหว่างที่ศึกษา PM2.5 จะพบ PM0.1 ที่มีอยู่ประมาณ 8-10% โดยน้ำหนัก

ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายใหม่ในเอเชีย เนื่องจากฝุ่นดังกล่าวยิ่งมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่จะยิ่งอันตราย เพราะมีโอกาสเข้าไปในกระแสเลือด และเข้าสู่สมองและหัวใจได้มากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ทีมวิจัยมีความสนใจว่าใน PM2.5 มีองค์ประกอบอะไรบ้างและถ้ามีขนาดเล็กลงจะก่อโรคได้มากขึ้นหรือไม่”
สำหรับประเด็นการเฝ้าระวังฝุ่นในเมือง รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้มีการศึกษาผลจาก PM2.5 กับอัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตของคนในกรุงเทพฯ พบว่า ทุกๆ การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 จำนวน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในกรุงเทพฯจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.8% และจะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น 3.12% ในกลุ่มอายุ 15-65 ปี ขณะที่การเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจสูงขึ้น 1.39% ทั้งนี้แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากควันท่อไอเสียรถยนต์เป็นหลัก และทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง PM2.5 แม้กระทั่งการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะควันน้อยแต่สามารถเพิ่ม PM2.5 ในอาคารได้เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอัจฉริยะ เพื่อรับวิกฤตฝุ่นควันครบวงจรว่า ทีมวิจัยได้มีต่อยอดแพลตฟอร์มที่ใช้กับโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความจำเป็นในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูล เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะเป็นการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผลกระทบในระยะสั้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์หมอกควันรุนแรง สามารถใช้ในการวางแผนบริหารทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข ในการคัดกรองจำนวนผู้ป่วยสู่การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปยังโรงพยาบาลระดับใหญ่เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นกว่าปกติ

จากข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ตอกย้ำภัยร้ายของ PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติตัวของผู้ที่ยังจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ ก็คือการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่สภาพอากาศเลวร้าย และใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังการสร้าง PM2.5 ให้เกิดขึ้นในอาคารบ้านเรือน

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การกำจัดต้นเหตุแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ที่จำเป็นต้องอาศัยนโยบายและการดำเนินงานจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image