ส.ก.จตุจักร อภิปรายปมลอกท่อ รัวข้อมูลยิบ เทียบเป็นนาที ราชทัณฑ์งานช้า-ประสิทธิภาพไม่เท่าเอกชน

ส.ก.จตุจักร อภิปรายปมลอกท่อ รัวข้อมูลยิบ เทียบเป็นนาที ราชทัณฑ์งานช้า-ประสิทธิภาพไม่เท่าเอกชน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมที่ปรึกษาฯ ตลอดจนเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุม

ในที่ประชุมวันนี้มีญัตติของนายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ส.ก.เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล เรื่อง ขอให้ กทม.เพิ่มประสิทธิภาพการลอกท่อระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ฝนตามฤดูกาลที่ตกหนักทั่วทั้งกรุงเทพฯ

Advertisement

นายอภิวัฒน์กล่าวว่า ท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีความยาว 6,741 กม. อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักกการระบาย 2,050 กม. สำนักงานเขตต่างๆ 4,514 กม. โดยแผนการลอกท่อในปี 2566 ความยาว 3,864 กม. คิดเป็น 57.32% จากความยาวท่อทั้งหมด ถ้ายังปฏิบัติงานตามอัตราเร่งเดิมจะลอกท่อได้เพียง 77% ของแผนการลอกท่อ ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2559 ระบุประสิทธิภาพการระบายน้ำในท่อระบายน้ำกรุงเทพฯ อยู่ที่ 43.5% ซึ่งถ้าเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 7% จะสามารถลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ 14 เขต

นายอภิวัฒน์กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการลอกท่อระหว่างกรมราชทัณฑ์ กับบริษัทเอกชน 2 แห่ง พบว่ากรมราชทัณฑ์มีการทุบและงัดเปิดฝาท่อ ทำให้เกิดฝาท่อชำรุดเสียหาย ใช้กระสวยลอกท่อเพียงขนาดเดียว ทำให้การลอกท่อไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่มีชุดป้องกันให้กับผู้ปฏิบัติงาน ส่วนบริษัท A มีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงล้างท่อ มีรถดูดขี้เลนในท่อ ส่วนบริษัท B มีชุดอุปกรณ์ป้องกันให้กับผู้ปฏิบัติงาน เช่น สวมหมวกเซฟตี้ ใส่เสื้อสะท้อนแสง

Advertisement

นายอภิวัฒน์กล่าวว่า ผลการทดสอบพบว่าบริษัทเอกชน 2 แห่ง ทำความสะอาดท่อได้ 100% ส่วนกรมราชทัณฑ์ทำความสะอาดท่อได้เพียง 50% ส่วนระยะเวลาการทำงานพบว่าบริษัท B ทำงานได้เร็วที่สุดเพียง 18 นาที ต่อการลอกท่อ 100 เมตร บริษัท A ทำได้ 39 นาที กรมราชทัณฑ์ทำได้ 32 นาที

นายอภิวัฒน์กล่าวว่า มี 7 ข้อเสนอในการลอกท่ออย่างมีประสิทธิภาพ 1.ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันระหว่างการปฏิบัติงาน การตั้งกรวยจราจร 2.แบ่งรูปแบบการลอกท่อให้เหมาะสมตามขนาดท่อ ที่แต่ละบริษัทมีเครื่องมือรองรับ 3.กำหนดจุดทิ้งดินเลน เพื่อไม่ให้เดินทางไปทิ้งในระยะไกล 4.ให้ กทม.จัดหายานหาหนะในการลอกท่อตามซอกซอยต่างๆ 5.พัฒนาทักษะบุคลากรการระบายน้ำ 6.ติดตั้งเทคโนโลยี IoT เซ็นเซอร์ ในท่อระบายน้ำ 7.ให้มีการติดตั้งถังดัก หรือบ่อดักไขมันในทุกครัวเรือน ชุมชน ตลาด สถานประกอบการ

ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือเฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า รถดูดเลนของสำนักการระบายน้ำ ฝั่งธนบุรี มีอยู่ 3 คัน ใช้การมานานแล้วกว่า 30 ปี แต่ใช้ได้จริงเพียง 1 คัน ซึ่งถ้าเครื่องมือเครื่องจักรเป็นของดี เจ้าหน้าที่ก็สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว ถ้าเครื่องจักรมีราคาแพง แต่ใช้การได้ดี ใช้ได้ระยะเวลานาน มีความคุ้มค่า แต่ถ้าซื้อมาถูกแล้วใช้งานไม่ได้ มาจอดไว้ ก็ไม่มีประสิทธิภาพ

“เวลาเสนอมาแพง น้ำท่วมขึ้นมาดูว่าแพงเป็นยังไง ต้องใช้รถที่มีประสิทธิภาพเครื่องจักรต้องดี ไม่ใช่ว่าซื้อรถมา 3 วันพัง ท่านเห็นไหมว่ารถคันนี้ไม่มีตัวทะลวงแล้ว” เฮียล้านกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image