ก.แรงงาน จับมือ กรมประมง-USAID เอ็มโอยูลดเปราะบางค้ามนุษย์ ยกไทยสู่เทียร์ 1

ก.แรงงาน จับมือ กรมประมง-USAID เอ็มโอยูลดเปราะบางค้ามนุษย์ ยกไทยสู่เทียร์ 1

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในการลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์ โดยมี พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานสักขีพยาน ดร.สตีเว่น จี. โอลีฟ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมงปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมประมง นางเมแกน แม็กเบน (Meghan MacBain) ผู้อำนวยการโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดย USAID Thailand Counter Trafficking in Persons ดำเนินโครงการโดยองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย (Winrock International) เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ตนในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้ร่วมประชุมหารือภาคีเครือข่ายในประเด็นความร่วมมือด้านแรงงานและการตรวจสอบคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมงร่วมกับ USAID และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย การประชุมในครั้งนั้น นำไปสู่การจัดทำเอ็มโอยูระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมประมง และองค์การวินร็อค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำโครงการและนวัตกรรมขององค์การ USAID และองค์การวินร็อคมาเผยแพร่และใช้งานร่วมกัน

Advertisement

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงแรงงาน กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดทำร่างเอ็มโอยู และที่สำคัญขอบคุณ USAID และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ที่ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลผลักดันให้เกิดเอ็มโอยู จึงทำให้เป็นที่มาของพิธีลงนามในวันนี้ กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สำหรับกรมประมง ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-NRM) เพื่อคัดกรองแรงงานที่เปราะบางในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลของประเทศไทย และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผนึกกำลังเป็นทีม Thailand ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป


“สำหรับลงนามเอ็มโอยู ในการลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการติดต่อสื่อสารและแจ้งขอความช่วยเหลือให้แรงงานซึ่งทำงานบนเรือประมงติดตั้งส่วนเสริมให้กับระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง (VMS) ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้สัญญาณดาวเทียมแทนสัญญาณโทรศัพท์ปกติ เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือในพื้นที่ทำการประมงที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนขยายความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจาก โครงการนำร่องเทคโนโลยีสื่อสารบนเรือ (Connectivity at Sea) เพื่อลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์อีกด้วย” พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image