หมอหลอดเลือดสมอง โต้ข้อมูลโซเชียล ยัน อากาศร้อนจัด กระดกน้ำเย็น-อาบน้ำได้ ไม่อันตราย

หมอหลอดเลือดสมอง โต้ข้อมูลโซเชียล ยัน อากาศร้อนจัด กระดกน้ำเย็น-อาบน้ำได้ ไม่เกิดอันตราย ไม่เกี่ยวเส้นเลือดปริแตก

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาทด้านโรคหลอดเลือดสมอง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวในรายการ “จับมาคุย” ที่จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีการส่งต่อข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย หากอุณหภูมิร้อนจัด 38-40 องศา ไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะหลอดเลือดเล็กอาจปริหรือระเบิดได้ว่า อุณหภูมิร่างกายสูง เช่น อยู่ในภาวะอากาศ 38 องศา ไม่ได้มีข้อมูลหรือมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนว่า การดื่มน้ำเย็นเป็นข้อห้าม สามารถดื่มน้ำเย็น น้ำอุ่น หรือน้ำร้อนได้

“หากอากาศร้อนจริงๆ การดื่มน้ำเย็นอาจจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้น เพราะว่าน้ำเย็นช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง การอักเสบมันลดลง ส่วนน้ำร้อนดื่มได้แต่ร่างกายอาจไม่สดชื่น ส่วนดื่มน้ำอุ่นก็ทำได้ ก็อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ไม่ได้เป็นข้อห้ามอะไร” นพ.ธนบูรณ์กล่าว

นพ.ธนบูรณ์กล่าวว่า ส่วนที่ว่าจะทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ปริแตกได้ ข้อมูลแบบนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่บอกว่าการดื่มน้ำเย็นๆ ในช่วงอุณหภูมิร้อนๆ จะทำให้หลอดเลือดปริแตก การดื่มน้ำจะช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลงและไม่มีผลเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เราดื่ม ซึ่งการดื่มน้ำเย็นจะช่วยลดอุณหภูมิและอาจจะลดเรื่องการอักเสบต่างๆ ในร่างกายได้ ส่วนเรื่องการใช้น้ำเย็นล้างเท้าแล้วเกิดอาการตาบอด มองไม่เห็น ข้อมูลนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ไม่มีข้อมูลว่าการล้างเท้าแบบนี้จะเกี่ยวกับเรื่องของการไหลเวียนไปจนถึงดวงตาหรือสมอง ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง สามารถที่จะล้างเท้าได้ตามปกติ

Advertisement

นพ.ธนบูรณ์กล่าวว่า เรื่องการอาบน้ำทันทีหลังกลับมาจากข้างนอกที่อุณหภูมิสูงๆ นั้น ไม่ได้เป็นข้อห้ามอะไรหรือเป็นผลเสีย แต่จริงๆ ดีด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงน่าจะสบายตัวมากกว่า แต่ถ้าเอาให้ดีอาจจะหยุดนั่งพักผ่อนสักพักก่อน ให้เราสบายเนื้อสบายตัวก่อน เช็ดเหงื่อสักหน่อย แล้วค่อยไปอาบน้ำ อาจจะไม่ต้องถึง 30 นาที อาจจะ 5-10 นาทีให้ร่างกายปรับตัว ส่วนที่บอกอาบน้ำเสร็จแล้วเป็นสโตรกเลยนั้น ขอชี้แจงว่า ช่วงที่อากาศร้อนๆ แบบนี้ อาบน้ำทำให้ร่างกายสบายและช่วยลดความร้อน โอกาสที่จะทำให้เกิดสโตรกคงจะน้อย ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน

“ช่วงอากาศร้อนพยายามหลีกเลี่ยงออกกลางแดดเวลาที่ร้อนจัดหรือช่วงใกล้เที่ยงหรือช่วงบ่ายๆ หากจำเป็นจะต้องทำงานในที่ร้อนจริงๆ อาจจะต้องป้องกันสวมเสื้อผ้าโปร่งสบาย ใส่หมวกหรือมีร่ม ช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายสูงมากเกินไป หากมีการเสียเหงื่อให้ดื่มน้ำ ลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย หากมีอาการเหมือนจะเป็นลม หน้ามืด คล้ายจะเป็นฮีตสโตรก พยายามทำตัวให้สบายและเข้าร่มให้เร็วที่สุด อาจจะต้องขอความช่วยเหลือกับคนที่อยู่บริเวณนั้น พยายามอยู่ในที่ร่มไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปกลางแดด” นพ.ธนบูรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image