สธ. โต้ ปมรัฐซื้อ ‘ซิโนแวค’ 12 ล้านโดสเกินจำเป็น ยัน ผ่าน ครม.-ศบค. แล้ว

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเรื่องเอกสารเกี่ยวกับการเสนอจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 12 ล้านโดสว่า กรมควบคุมโรค ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเพจที่กล่าวอ้างมิได้ระบุว่าเป็นเอกสารใด แต่จากช่วงเวลาที่กล่าวอ้างน่าจะเป็นช่วงประมาณไตรมาส 3 ของปี 2564 ซึ่งขณะนั้นมีการระบาดของโควิด-19 รุนแรง ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยความเห็นชอบจาก ครม. มอบให้ สธ. มีแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ความครอบคลุมสูงทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่มีข้อจำกัดเรื่องวัคซีนหลายชนิดไม่สามารถจัดส่งให้ประเทศไทยได้ตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชและจุฬาลงกรณ์ ว่าวัคซีนซิโนแวค โดยเฉพาะการฉีดแบบสูตรไขว้ มีความปลอดภัย มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในระดับดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทันต่อสถานการณ์

“จึงเสนอให้ซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส ตามขั้นตอนผ่านที่ประชุม ศบค. คณะอนุกรรมการฯ และ คกก.กลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ก่อนเข้าที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สามารถระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ครบ 100 ล้านโดสตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว ส่วนเอกสารที่มีการอ้างถึงน่าจะมาจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่ให้ความเห็นการใช้จ่ายเงินกู้ฯ จัดหา 6 ล้านโดสก่อน ซึ่งเป็นความเห็นเบื้องต้น ต่อมาคณะกรรมการฯ ยืนยันการจัดหา 12 ล้านโดส และเสนอผ่าน ศบค.และ ครม.เห็นชอบตามระเบียบ” นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การขออนุมัติจัดหาวัคซีนผ่านที่ประชุมคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ศปก.ศบค. และ ศบค.ชุดใหญ่ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยพิจารณาสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงในขณะนั้น เป็นเหตุให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่ง สธ.เสนอขออนุมัติวงเงินในการจัดหาวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส ในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ และได้รับอนุมัติจัดซื้อในจำนวนดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งมีการจัดซื้อตามระเบียบทางราชการเป็นการจัดซื้อเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ในห้วงเวลาเร่งด่วน ถือเป็นการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยประเมินความเสี่ยงรอบด้านจากทุกระดับ

“ส่วนที่มีการระบุว่า ซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเกินความต้องการ หมดอายุโดยไม่ได้ฉีดนั้น ข้อเท็จจริง คือ ในภาวะฉุกเฉินต้องมีวัคซีนจำนวนเพียงพอ ซึ่งมีส่วนที่หมดอายุน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นวัคซีนซิโนแวคที่ประเทศไทยรับบริจาคจากต่างประเทศในช่วงปลายปี 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด สะสมมากกว่า 145 ล้านโดส ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคทั่วถึง ช่วยปกป้องชีวิตคนไทยได้นับล้านคน ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโควิด ที่สำคัญยังช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับสู่สภาวะปกติรวดเร็ว ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลกและนานาชาติ” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image