ผู้ตรวจฯแรงงาน เปิดเวทีถกความร่วมมือในภูมิภาค ตั้งเป้าปี’68 ขจัดใช้แรงงานเด็กแบบเลวร้าย

ผู้ตรวจฯแรงงาน เปิดเวทีถกความร่วมมือในภูมิภาค ตั้งเป้าปี’68 ขจัดใช้แรงงานเด็กแบบเลวร้าย

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อนำแนวทางอาเซียนในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปในปี ค.ศ.2025 ไปปฏิบัติ โดยมี นาย Benedicto Ernesto R. Bitonio, Jr. ประธาน SLOM และปลัดกระทรวงด้านแรงงานสัมพันธ์ นโยบาย และการต่างประเทศ กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พร้อมทั้ง ประธานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร

นายสมาสภ์กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้แรงงานเด็กยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศรายงานว่าแรงงานเด็กที่อายุระหว่าง 5-17 ปี มีจำนวนประมาณ 160 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 48.7 ล้านคน อยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมกันเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินการตามแนวทางอาเซียนในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปในปี 2568 ไปปฏิบัติ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปในส่วนของประเทศไทย ในปี 2565

“จากรายงานกระทรวงแรงงาน พบว่า ได้มีการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กตามมาตรา 45 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งสิ้น 71,301 คน สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานของอาเซียนและการบูรณาการร่วมกันเกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านศักยภาพของแรงงานเด็ก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในระดับภูมิภาค” นายสมาสภ์กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายสมาสภ์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักด้านการคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด โดยให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไป ด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเด็กที่สำคัญหลายฉบับ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 8.7 ที่ดำเนินการโดยทันทีและมีประสิทธิภาพเพื่อขจัดแรงงานบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ รวมถึงยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในด้านโครงสร้างกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบที่ห้ามการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 55 ฉบับ และมีการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2565 ได้แก่ การออก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 การออกกฎกระทรวง แผนปฏิบัติการ ประกาศ ตลอดจนการดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงแรงงานได้มีการบูรณาการออกตรวจแรงงานอย่างเป็นระบบ และมีการประสานส่งต่อกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทและกลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กที่แตกต่างกัน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นต้น

“กระทรวงแรงงานได้ดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยในการให้การคุ้มครองทางสังคมผ่านกลไกในรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุม บนหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญต่อการศึกษาและสวัสดิการสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กโดยรวม พร้อมทั้งได้จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเหตุร้องเรียนเกี่ยวกับแรงงานเด็กที่มีประสิทธิภาพหลายช่องทาง ทั้งนี้ ในปี 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับการออกตรวจแรงงาน เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการกระทำผิดที่อาจนำไปสู่การบังคับใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์อีกด้วย” นายสมาสภ์กล่าวและว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ จะมีส่วนสำคัญที่จะได้รับความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนในการต่อต้านและขจัดแรงงานเด็กในทุกรูปแบบผ่านความร่วมมือที่ครอบคลุมเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติในด้านการดูแลและคุ้มครองแรงงานเด็กให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image