กรมวิทยาศาสตร์ฯ เร่งรัดนำเทคโนฯถอดรหัสพันธุกรรมต้นแบบรักษา-ยุติเชื้อวัณโรคพื้นที่เชียงราย

กรมวิทยาศาสตร์ฯ เร่งรัดนำเทคโนฯถอดรหัสพันธุกรรมต้นแบบรักษา-ยุติเชื้อวัณโรคพื้นที่เชียงราย

วันนี้ (18พฤษภาคม 2566) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) หรือไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (เอ็มโอยู) โครงการ Technical Cooperation Project for Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ และ Mr.Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทน JICA สำนักงานประเทศไทย ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับผู้แทนกรมควบคุมโรค คือ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาด มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลสำเร็จของโครงการ “SATREPS project 2015-2019” โดยเฉพาะการใช้การแพทย์จีโนมิกส์หรือการแพทย์แม่นยำ สำหรับการควบคุมวัณโรคในแหล่งระบาดและการรักษาผู้ป่วยเพื่อยุติวัณโรค มุ่งพัฒนาแนวทางการควบคุมวัณโรค ร่วมกับ กองวัณโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ สธ.เพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรคสูง ในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 12,000 ราย จำนวนผู้ป่วยวัณโรคของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก สธ. ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งต้องมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดให้ยุติวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดวัณโรคอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี

Advertisement

“ที่ผ่านมา ในช่วงปี 2558 – 2562 กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับ School of International Health (SIH), Graduate School of Medicine, Faculty of Medicine, มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการโครงการ “Integrative Application of Human and Pathogen Genomic Information for Tuberculosis Control” โดยได้รับการสนับสนุนร่วมกันจากทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) เกิดผลสำเร็จที่นำไปใช้สนับสนุนยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค เช่น การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (MTB) เพื่อระบุสายพันธุ์และประเมินความไวยาของเชื้อ การตรวจการแสดงออกของยีน (Gene Expression) เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรค (Active TB disease) การตรวจ Interferon-gamma release assay (IGRA) เพื่อวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) และตรวจยีนย่อยยา N-Acetyltransferase 2 (NAT2) เพื่อป้องกันตับอักเสบจากยาต้านวัณโรค” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในปี 2565 JICA ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือด้านเทคนิคระหว่างประเทศ “Technical Cooperation Project (TCP)” เน้นการเร่งรัดนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประชาชน Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) รัฐบาลไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอโครงการ TCP/ASIST จนได้รับการพิจารณารับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทาง JICA โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยปีนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการโครงการ
ศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านวัณโรค (TB Medical Science Excellent Center, TB-MSEC) ซึ่งเป็นการบูรณาการทางห้องปฏิบัติการและเครือข่ายวิจัยด้านวัณโรคระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อนำเทคโนโลยี ที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาในโครงการ SATREPS ไปให้บริการในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแปลผลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อจัดทำแนวทางการใช้ข้อมูล WGS ของเชื้อวัณโรคด้านระบาดวิทยา ดังนั้นการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านวัณโรคและเครือข่ายพันธมิตรจากกรมควบคุมโรค และเขตสุขภาพ จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จในโครงการ TCP/ASIST นี้ โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯมีแผนในการขยายการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี

Advertisement

“ภายใต้โครงการ TCP/ASIST กรมวิทยาศาสตร์ฯย์ ร่วมกับ JICA ได้จัดทำโครงการ The Project for Social Implementation of Infectious Disease Control Utilizing Genomic Information and Innovative Technology โดยนำผลสำเร็จของโครงการ SATREPS ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยวัณโรคและการเฝ้าระวังการระบาดด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและการตรวจ IGRA มาใช้ในการศึกษาระบาดวิทยาของการแพร่และการดื้อยาของเชื้อวัณโรคและการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคและเจ้าบ้านเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เป็นต้น โครงการนี้มุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลทางจีโนมิกส์ ทั้งในกรมวิทยาศาสตร์ฯ กรมควบคุมโรค และบุคลากรในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 4, 5, 7 และ 8 โดยมี จ.เชียงราย และโรงพยาบาล (รพ.) เชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นต้นแบบ พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์สำหรับผู้ป่วยวัณโรค โดยมีความร่วมมือด้านการพัฒนาแนวทางกับหน่วยงานของ สธ. ได้แก่ กองวัณโรค กองระบาดวิทยา สถาบันโรคทรวงอก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลและวิจัยนโยบายร่วมกับภาคมหาวิทยาลัยทั้งคณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image