อว. ยินดีเด็กไทยกวาดรางวัล “โครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลก” เผย ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ คว้าที่ 1 สำเร็จ!

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)​ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งนักเรียนไทยที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก สำหรับเยาวชน REGENERON ISEF 2023 ที่ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดย Society for Science & the Public ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2566 โดยมีตัวแทนเยาวชนกว่า 1,600 คน จาก 63 ประเทศจากทั่วโลกและมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าแข่งขันใน 15 สาขา เช่น วิศวกรรม พืชวิทยา สัตวศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พลังงาน และการขนส่ง เป็นต้น โดยปีนี้ กระทรวง อว. ได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 14 ทีม มาจาก 2 เวที ได้แก่ ค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2023) ภายใต้การสนับสนุนโดย NSM และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 (Young Scientist Competition, YSC 2023) โดย สวทช. และมหาวิทยาลัยพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า ผลปรากฎว่าทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียน (ร.ร.) กรุงเทพคริส เตียนวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวด คือ “รางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์(Regeneron Young Scientist Awards)” จากผลงาน “การเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส (Mallada basalis) จากพฤติกรรมการฟักและการเลือกกินอาหาร (Innovation for Optimizing Lacewing Survivability)” ได้รับเงินรางวัล 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.7 ล้านบาทพร้อมกับคว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล 5000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 170,000 บาท

ผศ.ดร.รวิน กล่าวต่อว่า ทีมเยาวชนจากประเทศไทย ยังสามารถคว้ารางวัล Grand Awards และ Special Awards มาครอบครองอีกหลากหลายสาขา ได้แก่ ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล 2000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงานโครงการวิธีการใหม่ในการตรวจสอบการติดเชื้อโรคเพบริน ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เงินรางวัล 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือ

ร.ร.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ เงินรางวัล 1000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงาน “วิธีการยั่งยืนในการควบคุมปัญหาการเป็นศัตรูพืชของหนอนด้วงสาคู” นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development (USAID) ในสาขา Agriculture and Food Security รับเงินรางวัล 3000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ อีกด้วยร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล 1000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงานการศึกษาแบบจาลองผลของสนามแม่เหล็กต่อพายุทรงหลายเหลี่ยมบนดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์โดยหลักความไม่เสถียรเชิงอุทกพลศาสตร์ ร.ร.โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล 500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงาน PROSynMOGN: การปรับปรุง Graph Neural Networks สำหรับโมเลกุลเพื่อทำนายการเสริมฤทธิ์ของยาคู่ผสมสำหรับรักษาโรคมะเร็งที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลการแสดงออกของโปรตีน และ ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต เงินรางวัล 500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากผลงานออร่า “ผู้ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูข้อเสื่อม” นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Awards อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน : Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา: Life Sciences Discipline รับเงินรางวัล 1,500 ดอลล่าร์สหรีฐฯ อีกด้วย

“ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด หวังว่าทุกผลงานจะนำไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.รวิน กล่าว

Advertisement

ด้าน ศ.ดร.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. กล่าวว่า Regeneron ISEF 2023 ถือเป็นเวทีที่มีความสำคัญด้านการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กและเยาวชนของชาติเป็นบุคคลที่มีบทบาทและส่วนสำคัญอย่างยิ่ง การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานและกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการส่งเสริมให้เยาวชนมีประสบการณ์จากการแข่งขันบนเวทีโลกจะเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนของประเทศ

รศ.ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทย ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่ายๆ หวังว่าจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image