กรมอนามัยเปิดเวทีถก (ร่าง) พ.ร.บ.คุมการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่กระทบสุขภาพเด็ก เน้น 9 ข้อสำคัญ

กรมอนามัยเปิดเวทีถก (ร่าง) พ.ร.บ.คุมการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่กระทบสุขภาพเด็ก เน้น 9 ข้อสำคัญ

วันนี้ (วันที่ 23 พฤษภาคม 2566) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการเป็นประธานการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก พ.ศ. … ผ่านระบบออนไลน์ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบว่า ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วน ร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federations หรือ WOF) คาดการณ์ว่า ปี 2573 ประชาชนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอนาคต

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็กไทยตามตัวชี้วัดระดับโลก (Ending childhood obesity: ECHO) ที่ยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุง แก้ไข
ให้ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านเทคนิคการตลาด กลไกการบังคับใช้ กำกับ ติดตาม และการประเมินผลให้เป็นรูปธรรม ตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์
กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาและผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมเกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม โดย (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ประกอบด้วย 9 มาตรการหลัก คือ 1) ฉลาก ต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็ก (เช่น การ์ตูน ดารา) และควรแสดงสัญลักษณ์กำกับที่เข้าใจง่าย 2) ควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา 3) ควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษา ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 4) ควบคุม การโฆษณา ทุกช่องทาง 5) ควบคุม การแลก แจก แถม ให้ ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งฟรี

6) การมอบหรือให้สิ่งของ อุปกรณ์ ของใช้ หรืองบประมาณในการจัดกิจกรรมใดจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก 7) การบริจาค อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
ในสถานศึกษาและสถานที่ศูนย์รวมของเด็ก 8) การจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และ 9) การติดต่อ ชักชวน หรือจูงใจเด็ก ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก

Advertisement

“ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์จะเป็นเครื่องมือในการรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน
ประชาสังคม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 172 หน่วยงาน เพื่อให้ พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะนำความเห็นของทุกภาคส่วน มาปรับใช้และพัฒนาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรค NCDs ในเด็ก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ที่ https://moph.cc/PHFOROGN สำหรับประชาชน ได้ที่https://moph.cc/PHFORALL จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย โทร 0-2590-4941” นพ.สราวุฒิ กล่าว

ขณะที่ พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เนื้อหาสาระประกอบด้วย 4 หมวด 42 มาตรา โดย วัตถุประสงค์หลัก เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

“การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก วันนี้สถานการณ์ไม่ได้ลดลงเลย จำเป็นที่ภาครัฐต้องลุกมาปกป้องเด็ก รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพอยู่ในท้องตลาดมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดย สธ.จะเป็นผู้มีบทบาทหลัก ควบคุม ดูแลกฎหมาย และมีคณะกรรมการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (คตอด.) มีปลัด สธ. เป็นประธาน” พญ.สายพิณ กล่าวและว่า ในบทกำหนดโทษของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก กำหนดให้มีเฉพาะโทษทางแพ่ง ไม่มีโทษทางอาญา ให้มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ประสงค์ให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสูตร ลด หวาน มัน เค็ม เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กน้อยลง  โดยไม่ได้ห้ามการขายอาหารและเครื่องดื่มฯ แต่อย่างใด  การบริจาคหรือการทำ CSR  ของผู้ประกอบการ ยังสามารถทำได้ตามมาตรา 20  ไม่ได้ห้าม แต่ไม่ให้แสดงโลโก้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image