สภาวิชาชีพเตือนแพทย์-เภสัชกร เนียนโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ในโซเชียล ผิดถึงขั้นถอนใบอนุญาต

สภาวิชาชีพเตือนแพทย์-เภสัชกร เนียนโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ในโซเชียล ผิดถึงขั้นถอนใบอนุญาต

วันนี้ (24 พฤษภาคม) ที่สภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า หลังจากช่วงโควิด-19 สภาเภสัชฯพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับสินค้าสุขภาพต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและหลงเชื่อ สภาเภสัชฯจัดกิจกรรมเปิดบ้านพูดคุยปัญหาสินค้าด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไม่โดนหลอก โดยเฉพาะสื่อด้านโซเชียลที่มีการส่งต่อทั้งข่าวจริงและข่าวลวง จึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้ เพื่อลดปัญหาการใช้เครื่องสำอางในประเทศลง และในครั้งต่อไปๆ ก็จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารและอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางเป็นระบบจดแจ้ง คือ ผู้ผลิตสามารถแจ้งผลิตภัณฑ์ และรายละเอียดเข้าสู่ระบบและจะได้รับเลขขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การควบคุมดูแลจะเป็นลักษณะติดตามหลังการจำหน่าย ดังนั้น ผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐานการผลิต หรือโฆษณาเกินจริงจึงสร้างปัญหาต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ กรณีประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง สามารถติดต่อเภสัชกรได้ในหลายจุด เช่น ร้านขายยา ห้องยาในโรงพยาบาล หรือติดต่อกับเครือข่ายของสภาเภสัชฯ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีแพทย์หรือเภสัชกรที่ออกมาให้ความรู้ประชาชนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แต่ก็พบว่ามีการแทรกโฆษณาขายสินค้าไปด้วย สามารถทำได้หรือไม่ ภก.สุวิทย์กล่าวว่า ตามหลักจริยธรรมของแพทยสภา และสภาเภสัชกรรมเอง ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่รวมถึงการแนะนำว่าใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วได้ผลดี โดยเฉพาะการเป็นนายหน้าขายสินค้า ก็ไม่สามารถทำเช่นกันเพราะเป็นการใช้วิชาชีพมาโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าแพทย์หรือเภสัชกรให้เฉพาะข้อมูลความรู้วิชาการกับประชาชน สามารถทำได้ ส่วนกรณีที่ไม่ได้ประกาศว่าตัวเองเป็นแพทย์หรือเภสัชกร แต่ด้วยความเป็นผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าเป็นแพทย์หรือเภสัชกร ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

เมื่อถามว่า ในปี 2565 สภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนใดมากที่สุดและมีบทลงโทษแล้วหรือไม่ ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาประมาณ 100 กว่าคดี โดยอันดับที่ 1 คือ เภสัชกรแขวนป้าย ไม่อยู่ประจำร้านขายยา ไม่ปฏิบัติหน้าที่ และอันดับ 2.โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมา เราก็มีการพิจารณามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทลงโทษเกี่ยวกับวิชาชีพ ก็จะมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 2 ปี ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต

Advertisement

ภก.สุวิทย์กล่าวอีกว่า ล่าสุดในปีนี้ สภาเภสัชกรรมมีมติให้เพิ่มบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กรณีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้ที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (แขวนป้าย) หลังการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (GPP) ได้บังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยสภาเภสัชกรรมจะวางบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับเภสัชกรที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2563

“หากประชาชนพบเห็นเภสัชกรมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถแจ้ง เพื่อดำเนินการสอบสวนพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร สส1. แบบการแจ้งเรื่องกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ที่ https://bit.ly/3AGaQV2 หรือแจ้งสายด่วน ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร. 1556” ภก.สุวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image