“ฝีดาษลิง” ระบาดเงียบ! กรมควบคุมโรคเผย พ.ค.เดือนเดียวติดเชื้อ 21 ราย

“ฝีดาษลิง” ระบาดเงียบ! กรมควบคุมโรคเผย พ.ค.เดือนเดียวติดเชื้อ 21 ราย

วันนี้ (1 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkey pox) หรือฝีดาษลิง ในประเทศไทย ระบุว่า เฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่ม จำนวน 21 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในช่วงเดือน Pride month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ทั่วประเทศไทย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตามที่มีโรคฝีดาษวานร ซึ่งเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วยรวม 43 ราย นั้น ล่าสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือ มีผื่น/ตุ่มสงสัย ดังนี้

1.มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ทางช่องทางดังต่อไปนี้ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ปาก 2.ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยสงสัยหรือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะผู้ป่วยมีอาการ 3.เคยดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือ ไอ มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก หากมีอาการให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือ โรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที พร้อมแนะนําวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รวมทั้งแนะนําให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

Advertisement

ทางด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือเครือข่ายที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เช่น โรงพยาบาล (รพ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา เป็นต้น ในการประชาสัมพันธ์ความรู้ และคำแนะนําในการสังเกตอาการโรคฝีดาษวานรสำหรับประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงร่วมดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคฝีดาษวานร ตามแนวทางเฝ้าระวังสอบสวนโรคและควบคุมการระบาดโรคฝีดาษวานร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image