รพ.ประจวบฯ ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ‘ผ่าตัดสมอง’ ไม่เสียค่าใช้จ่าย วอน สปสช.หนุนเครื่องมือ

รพ.ประจวบฯ ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง “ผ่าตัดสมอง” ไม่เสียค่าใช้จ่าย วอน สปสช.หนุนเครื่องมือ

วันนี้ (6 มิถุนายน 2566) นพ.สนธิเดช ว่องวุฒิกำจร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษศัลยกรรมประสาท ประจำโรงพยาบาล (รพ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า รพ.ประจวบฯ เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุ เพราะว่าเส้นถนนเพชรเกษมเป็นถนนเส้นหลักที่จะวิ่งขึ้นลงสู่ภาคใต้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็มักจะเป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย

นพ.สนธิเดชกล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาจะเป็นผู้ป่วยจากอุบัติเหตุมีเลือดคั่งในสมอง และได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นที่เกิดจากโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบ และเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่ง รพ.ประจวบฯ สามารถผ่าตัดได้ เพราะโรคทางสมองส่วนใหญ่ระยะเวลาในการผ่าตัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำนายเรื่องของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น การผ่าตัดได้ในทันทีในระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง เทียบกับกรณีที่จะต้องส่งต่อให้ไปโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น รพ.หัวหิน รพ.ราชบุรี รพ.เพชรบุรี ฯลฯ อย่างน้อยก็ต้องเผื่อเวลามากขึ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทำให้สมองที่ได้รับบาดเจ็บอยู่แล้วได้รับบาดเจ็บนานขึ้นไปอีก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ช้าลง อีกประการหนึ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกในสมองหรือว่าเนื้องอกในไขสันหลัง รพ.ประจวบฯ ก็สามารถรักษาได้เช่นกัน

Advertisement

นพ.สนธิเดชกล่าวต่อไปว่า การผ่าตัดสมองเป็นการผ่าตัดที่จะต้องมีความซับซ้อนและใช้เครื่องมือมาก หากผู้ป่วยไม่มีสิทธิบัตรทองจะต้องเสียค่าผ่าตัดอย่างน้อย 1.5-2 แสนบาท ซึ่งการผ่าตัดแต่ละครั้งไม่ใช่ว่า 2-3 วัน ก็จะสามารถกลับบ้านได้ บางครั้งจะต้องเข้าไปนอนห้องไอซียู (ICU) และอาจจะมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ป่วยบางคนนอนพักรักษาตัวเป็นอาทิตย์หรือว่าเป็นเดือน จึงเป็นเรื่องที่ดีมากที่ใน รพ.ประจวบฯ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้อย่างเต็มที่และครอบคลุม

“การผ่าตัด หรือว่าหลังผ่าตัดที่ต้องดูแลในห้องไอซียู หรือวอร์ดทั่วๆ ไปก็จะใช้สิทธิบัตรทองได้ สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก เพราะบางทีมีคนไข้ไปรักษาที่เอกชน แต่อยู่ได้ 2 วัน
ก็ไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ก็ต้องกลับมาที่นี่ก็มีเช่นกัน” นพ.สนธิเดชกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม รพ.ประจวบฯ ก็ยังคงสามารถทำการผ่าตัดได้เพียงเคสที่ไม่มีความซับซ้อน สำหรับเคสที่มีความยากและความซับซ้อน เช่น โรคเนื้องอกในสมองบริเวณตำแหน่งต่อมใต้สมอง หรือว่าเนื้องอกในสมองที่อยู่ในบริเวณตำแหน่งที่ลึกมากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องนำวิถีในการผ่าตัด ซึ่ง รพ.ประจวบฯ ยังไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ก็ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่ จ.ราชบุรี หรือประสานกับ รพ.หัวหิน ให้ทำการผ่าตัด และส่งผู้ป่วยกลับมาให้ดูแลต่อ

Advertisement

ขณะเดียวกัน นพ.สนธิเดชกล่าวว่า การที่ รพ.ประจวบฯ มีแพทย์ชำนาญการพิเศษศัลยกรรมประสาทเพียงแค่ 1 คน ทำให้เกิดภาระงานที่ค่อนข้างหนัก โดยใน 1 เดือน ต้องอยู่เวรคนเดียวแบบวันเว้นวันประมาณ 15 วันต่อเดือน ซึ่งจะมีเคสประมาณ 20 เคส เป็นการผ่าตัดนอกเวลา แล้วในเวลาที่เป็นเคสที่นัดมาผ่า ต้องเข้า OR อาทิตย์ละ 2 วันคือ จันทร์-อังคาร ก็ประมาณ 2-3 เคส เดือนหนึ่งก็ตกเกือบประมาณ 30 เคส

นพ.สนธิเดช กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาแพทย์ทำงานหนักว่า รพ.ประจวบฯ มีการให้ทุนของสาขาศัลยกรรมประสาทให้นักเรียนแพทย์ที่สนใจ ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี้จะจบมาแล้ว เพราะตามกรอบควรมี 2-3 คน แต่เนื่องจากบางครั้งแพทย์ที่เคยมาแล้วอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายไป ทำให้เหลือแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลน้อย

“สำหรับที่ รพ.ประจวบฯ ก็อยากให้ สปสช. สนับสนุนด้านเครื่องมือให้มากขึ้น เพราะว่าบางรายที่จะต้องผ่าตัดซับซ้อน หากมีแพทย์ชำนาญการ 2 คนมาช่วย พร้อมกับมีเครื่องมือดีๆ อาจจะทำให้การส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นลดน้อยลงไปมากกว่านี้ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ต้องส่งต่อไปก็เพราะว่า ที่นี่ไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หลักๆ ก็คือขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เช่น การผ่าตัดต่อมใต้สมอง ตอนนี้เราไม่ผ่าตัดเปิดกะโหลกแล้ว แต่จะใช้การส่องทางจมูกก็ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะโรคนั้นๆ หรือถ้าเป็นเนื้องอกเราก็จะมีเครื่องมือย่อยสลายเนื้องอกตอนผ่าตัดก็จะทำให้ร่นเวลา เช่น สมมติเราผ่าตัดที่นี่ธรรมดาอาจจะ
3-4 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเครื่องย่อยสลายเนื้องอกอาจจะเหลือแค่ 2 ชั่วโมง” นพ.สนธิเดชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image