ผอ.สคอ.ยันกำหนดเวลาห้ามดื่ม-ขายเหล้าที่ร้าน เรื่องเดิม แค่รวบ กม.ไว้ฉบับเดียว

ผอ.สคอ.ยันกำหนดเวลาห้ามดื่ม-ขายเหล้าที่ร้าน เรื่องเดิม แค่รวบ กม.ไว้ฉบับเดียว

ความคืบหน้ากรณีที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็นในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีการยกร่างแก้ไขใน 37 มาตราการ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย คือ 1.การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาห้ามจำหน่าย (ปัจจุบันกำหนดห้ามจำหน่ายช่วงเวลา 14.00-17.00 น.) 2.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสถานประกอบการที่สงสัยว่าจะมีการกระทำผิด ปล่อยให้มีการดื่มในช่วงเวลาห้ามขาย (ปัจจุบันต้องมีการขอหมายและขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าตรวจสถานประกอบการ) 3.เพิ่มโทษปรับเงินผู้ฝ่าฝืนทั่วไป สูงสุด 30,000 บาท (ปัจจุบันไม่มีบทลงโทษนี้) และ 4.เพิ่มค่าปรับสำหรับบริษัทนำเข้า หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ. ปรับสูงสุดหลักล้านบาท รวมถึงห้ามโฆษณายี่ห้อ ห้ามทำสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ยี่ห้อนั้นทำมาก่อนที่มีกฎหมายห้ามไว้

วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอชี้แจงว่าการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เสนอความเห็นให้นำหลักการตามข้อ 2 วรรคสอง แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 เรื่อง กำหนดห้ามการดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายสุรามากำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ. เพื่อรวมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องไว้ในกฎหมายหลักฉบับเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย และทำให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้สะดวก สามารถเข้าใจได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้อง เหมาะสม กับสภาพการณ์ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

Advertisement

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ในกระบวนการยกร่างนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงบังคับตามกฎหมายเดิม และบางส่วนปรับปรุงโดยมีการกำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ มีการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

“สำหรับข้อกังวลเรื่องเวลาห้ามดื่ม ณ สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เพื่อเป็นการควบคุมการเข้าถึงของผู้บริโภค ที่หากมีการดื่มมากเกินไปจนเมา ควบคุมสติไม่ได้ อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ จึงได้มีการห้ามดื่มไปพร้อมกับห้ามจำหน่าย แต่เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามไปทุกพื้นที่ หมายความว่า ถ้าหากดื่มที่ร้านไประยะหนึ่งแล้ว หมดเวลา แต่ยังอยากดื่มต่อ ก็สามารถกลับไปดื่มที่บ้าน หรือที่พักได้ แต่ที่ร้านต้องยุติ นอกจากนี้ กรณีห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มในวันพระใหญ่ ก็ยังมีการควบคุม เพราะใน 1 ปี มี 365 วัน กฎหมายควบคุมเพียง 5 วันเท่านั้น” นพ.นิพนธ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังอยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็น และมีขั้นตอนอีกมากกว่าจะมีผลบังคับใช้ เข้าใจดีว่าต้องมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน แต่ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานยืนยันว่าได้ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้เป้าเอาผิด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หลังจากเจ้าตัวไปออกรายการทางช่องยูทูบ และตอนหนึ่งได้กล่าวถึงนโยบายสุราก้าวหน้า และรสนิยมการดื่มของตัวเอง พร้อมก้บเปิดเผยชื่อยี่ห้อและเชียร์สุราชุมชนที่ตัวเองดื่มหลายยี่ห้อ นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ทราบเรื่องจากเจ้าหน้าที่นิติกรแล้วว่าได้มีการรับเรื่อง ซึ่งต้องขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงไม่อยากให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image