กรมควบคุมโรค-นครราชสีมา สนองพระปณิธานกรมพระศรีสวางควัฒน ปักธงพื้นที่ปลอด “พิษสุนัขบ้า”

กรมควบคุมโรค-นครราชสีมา สนองพระปณิธานกรมพระศรีสวางควัฒน ปักธงพื้นที่ปลอด “พิษสุนัขบ้า”

วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นสพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จัดกิจกรรมการรณรงค์และเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายสถานพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ ประชาชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยง

 

Advertisement

โดยกิจกรรม ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง “ทำอย่างไรนครราชสีมาจะเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” โดยผู้แทนจากท้องถิ่น จ.นครราชสีมา, ปศุสัตว์เขต, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นครราชสีมา กรมการสัตว์ทหารบก และ นพ.วิชาญ บุญกิติกร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา การแสดงเจตจำนงในการดำเนินงานเพื่อให้ จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้า นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวโรคพิษสุนัขบ้าในคนและในสัตว์ การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน สำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง จำนวน 100 คน ให้บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว จำนวน 100 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง จำนวน 100 ตัว และการปล่อยขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และกำจัด โรคพิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ จ.นครราชสีมา ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

 

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ด้วยพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย และทรงเลือกจังหวัดที่จะดำเนินการแบบต่อเนื่อง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ และยังทรงเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์โดยการทำหมัน ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้ตนเองมีความรู้ความสามารถในการป้องกันตนเอง จากการติดโรคพิษสุนัขบ้า

“ปัจจุบัน สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ถือว่าค่อนข้างคงที่ ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 3 ราย ใน จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, และ จ.สุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมาก กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้จัดทำนโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 1 เขต 1 อำเภอใหม่ และเพื่อเป็นการสนองพระปณิธาน รวมถึงการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรคจึงจัดกิจกรรมการณรงค์และเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจ ที่จะทำให้ จ.นครราชสีมา มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2568 ตามข้อตกลงขององค์การอนามัยโลก องค์การสุขภาพสัตว์โลก และองค์การอาหารและยาเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” นพ.ธเรศ กล่าว

นายสยาม กล่าวว่า จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย 32 อำเภอ 289 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และยังเป็นประตูสู่ภาคอีสานอีกด้วย ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จ.นครราชสีมา มีการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งอ.ปากช่อง เป็นอำเภอที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์มานานกว่า 2 ปี และมีแผนที่ประเมินและรับรอง เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดย จ.นครราชสีมา มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า และมีการถ่ายทอดนโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าไปยังผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ

นสพ.บุญญกฤช กล่าวว่า แนวทางการประกาศพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ 1.ระดับปลอดโรคพิษสุนัขบ้า หมายถึงพื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี และได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าผ่านคณะกรรมการประเมินและรับรองฯ 2.ระดับ Afree หมายถึง พื้นที่ที่ไม่พบรายงาน โรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี 3.ระดับ A หมายถึง พื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 2 ปี 4.ระดับ B หมายถึง พื้นที่ัที่ยังพบรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา และ 5.ระดับ C หมายถึง พื้นที่ที่ยังพบรายงานการเสียชีวิต ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา

“โดยการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มต้นจากการประเมินและรับรองในระดับท้องถิ่น สะสมขึ้นมาเป็นระดับอำเภอ และระดับจังหวัดตามลำดับ โดยใช้แนวทางคู่มือการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำโดยคณะกรรมการและคณะทำงานจัดทำคู่มือฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” นสพ.บุญญกฤช กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image