2 ปี Cancer Anywhere ผู้ป่วยมะเร็ง ‘บัตรทอง’ รักษาเร็ว สปสช.ดันสิทธิประโยชน์สู่ ‘ประกันสังคม’

“โรคมะเร็ง” ยังคงเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีมากที่สุด โดยข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่กว่า 1.4 แสนคน หรือคิดเป็นประมาณ 400 คนต่อวัน โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ประกอบด้วย มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

แม้ว่า โรคมะเร็งจะน่ากลัว แต่หากตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็มีโอกาสรอดชีวิตได้สูง

การเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งของคนไทย ปัจจุบันมีโครงการ ‘Cancer Anywhere หรือมะเร็งรักษาได้ทุกที่’ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้าถึงการรักษาได้ในทุกโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนรักษาโรคมะเร็งกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสิทธิ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสะดวก และสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น

Advertisement

“นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล” รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สะท้อนความเห็นถึงโครงการ Cancer Anywhere มะเร็งรักษาได้ทุกที่ หลังดำเนินการมา 2 ปีกว่า โดยให้ภาพว่า ตั้งแต่ที่เริ่มโครงการในวันที่ 1 มกราคม 2564 พบว่าจำนวนการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในสิทธิบัตรทองมีเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เคยรักษาโรคมะเร็ง แต่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองของตัวเองหันมาใช้สิทธิบัตรทองในโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่มากขึ้น เพราะเกิดความสะดวกในการรับบริการ และสามารถทำให้เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว

“จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งฯ ผลลัพธ์การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังมีโครงการ Cancer Anywhere เราพบว่า การเข้าถึงการผ่าตัด การรับยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษา ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้นตามลำดับ ในปี 2564-2565 หลังที่มีโครงการ” นพ.ศุภกร กล่าว

Advertisement

รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯ สะท้อนด้วยว่า โครงการ Cancer Anywhere เข้าไปช่วยทำประโยชน์ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และตรงกับเป้าหมายนโยบายของ สปสช.ที่ต้องการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเหมาะสม และสามารถรับบริการได้สะดวกโดยเร็วที่สุด เพราะแต่เดิม ผู้ป่วยโรคมะเร็งสิทธิบัตรทองที่ต้องรักษาตัว จะต้องให้โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิอยู่แต่อาจไม่มีศักยภาพพอที่จะรักษาได้ ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า หรือโรงพยาบาลที่พร้อมรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ ขณะที่โครงการ Cancer Anywhere จะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนรักษาโรคมะเร็งกับ สปสช.ได้ทุกแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลต้นทางเพื่อขอใบส่งตัว

“จุดเด่นของโครงการ คือ เป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ป่วยให้ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น หากผู้ป่วยใกล้ที่ไหน ก็ไปที่นั่นได้ ไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและสามารถรักษามะเร็งอย่างต่อเนื่องได้เลย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ต้องทำงานต่างถิ่น หรือต่างจังหวัด ที่ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ก่อน เมื่อป่วยก็ต้องกลับไปเริ่มต้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้นทางที่ต่างจังหวัด แต่นโยบายนี้ จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่เลย” นพ.ศุภกร กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ศุภกร บอกว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับรูปแบบการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในสิทธิบัตรทอง โดยให้โรงพยาบาลที่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แม้จะไม่ใช่โรงพยาบาลต้นสิทธิของผู้ป่วย สามารถเบิกจ่ายค่าบริการกับ สปสช.ได้โดยตรง โดยไม่ต้องเรียกเก็บค่ารักษากลับไปยังโรงพยาบาลต้นสิทธิเหมือนเช่นเดิม ซึ่งช่วยให้มีความสะดวกในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันมะเร็งฯยังพัฒนาให้มีเครือข่ายผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง (Cancer Coordinator) ให้มีอยู่ในทุกเขตบริการสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการ Cancer Anywhere ให้กับผู้ป่วยได้มีความเข้าใจ พร้อมทั้งทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกันระหว่างโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบ “คิวว่าง” สำหรับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ เพื่อคอยแนะนำให้กับผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว

“สถาบันมะเร็งฯ ยังมีการออกแบบนโยบายและพัฒนาระบบเครื่องมือ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลด้วยกันเอง พร้อมกับพัฒนาแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนผู้ป่วย เพื่อคืนข้อมูลการรักษาให้กับผู้ป่วยได้ติดตามการรักษาของตัวเอง” นพ.ศุภกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกร กล่าวว่า แม้ว่าโครงการ Cancer Anywhere จะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับประโยชน์ในแง่การเข้าถึงบริการรักษาที่สะดวก รวดเร็ว แต่ในมุมของผู้ให้บริการรักษา ยังพบเจอปัญหาจากโครงการนี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะการสื่อสารนโยบายอย่างทั่วถึง รวมไปถึงระบบมาตรฐานของข้อมูลด้านการรักษาผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยกันที่มีหลายระบบ ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลไม่ต่อเนื่อง หน้างานต้องมีการลงข้อมูลซ้ำซ้อน เป็นการเพิ่มภาระกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในอนาคตอยากจะให้มีการจัดระบบฐานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน กระนั้นก็ตาม จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงผู้ให้บริการ พบว่ามีระดับความพึงพอใจในระดับที่ดี โดยเฉพาะการได้รับการรักษาที่สะดวก และรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้การรักษามีความต่อเนื่อง

รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯ ยังฉายภาพเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งว่า ต้องการให้บริการมากขึ้น ซึ่งในปี 2566 จะมีการผลักดันรูปแบบบริการรักษาโรคมะเร็งในลักษณะ Cancer Anywhere นี้ เพื่อนำเสนอกองทุนประกันสังคมพิจารณาต่อไป

“สถาบันมะเร็งฯมีความตั้งใจที่จะทำให้การบริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ก็จะมีการเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยต่างๆ ที่ออกมาด้วย” นพ.ศุภกร กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image