ปลัด สธ.ย้ำ! 20 มิ.ย.นี้ จับเข่าคุย ก.พ. แก้ปม “หมอ-บุคลากรสาธารณสุข” ลาออก

ปลัด สธ.ย้ำ! 20 มิ.ย.นี้ จับเข่าคุย ก.พ. แก้ปม “หมอ-บุคลากรสาธารณสุข” ลาออก เผยเหลืออีกกว่า 3 หมื่นคนยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ

ความคืบหน้ากรณีกระแสข่าวแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) และบุคลากรทางการแพทย์ในสายวิชาชีพอื่นๆ ทยอยลาออกจากราชการ เนื่องจากไม่อดทนต่อภาระงานหนัก แต่ได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อย ซึ่งต่อมามีเสียงเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เร่งแก้ไขปัญหา กระทั่งคณะผู้บริหาร สธ.ได้มีการเรียกประชุมหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดหลากหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยบางมาตรการจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานภายนอก สธ. อาทิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และการลาออกจากราชการ ว่า ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ทางผู้บริหาร สธ. และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จะมีการประชุมร่วมกัน เป็นการประชุมตามวาระสามัญ หรือการประชุมประจำเดือน ซึ่งจะมีการหยิบยกประเด็นบุคลากรสาธารณสุขลาออกจากราชการมาหารือด้วย

“ที่ผ่านมา ก็มีความร่วมมือกันโดยตลอด แต่ปัญหาเรื่องบุคลากรสาธารณสุขมีความซับซ้อน เพราะมีหลายแสนคน ครั้งนี้ก็จะมีการหารือถึงเรื่องการบรรจุข้าราชการที่ยังตกค้างอยู่อีก 30,000 กว่าคน และเสนอข้อเรียกร้องจาก 4 ชมรมแพทย์ในสังกัด สธ. ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้ ก.พ. รับทราบด้วย เพราะแต่ละสาขาวิชาของ สธ. มีความสับสน อย่างเช่นหมอที่จบแล้วต้องไปเพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น ต้องเรียนแพทย์เฉพาะทาง ส่วนพยาบาลก็ต้องเรียนสาขาเฉพาะทาง ดังนั้น ระเบียบต่างๆ ของ ก.พ. ก็อาจไม่สะดวก อย่างหมอจบไปเป็นอินเทิร์น ทำงานในโรงพยาบาล ช่วงนั้นก็จะไม่มีขึ้นเงินเดือน ซึ่งเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ต้องมาหารือกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกันว่าปัญหาเป็นแบบนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการขอความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานถึงปัญหาจริงๆ แล้วหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า แต่ละชมรมที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้รับเสียงสะท้อนมาแล้ว เช่น หมอบางคน ลาออกเพราะเรียนจบมาแล้วไม่ได้อยากเป็นหมอ ซึ่งเราก็บังคับไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีเหตุผลแตกต่างกัน

เมื่อถามว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงประเด็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง จนทำให้ภาระงานของโรงพยาบาล (รพ.) มากขึ้นหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องพูดคุยกันทุกหน่วยงาน ทั้งภาระงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า และเรื่องส่วนตัว

“ส่วนใหญ่ที่มาเสนอความเห็น มีเพียงมุมเดียว พอแก้มุมหนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาอีกมุมหนึ่ง เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรแล้วคนเดือดร้อนมากแค่ไหน เพราะถ้ากระทบคนกลุ่มน้อยมากๆ แล้วเราไปแก้ระบบใหญ่ ก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ เราต้องคุยกันให้ครบถ้วนก่อน” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ล่าสุด ตนได้สั่งการไปทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ให้ปรับระบบภายใน รพ. เพราะที่ผ่านมา ก็มีปัญหามานาน ทุกคนก็ช่วยเหลือกันอย่างดี แต่การปรับเปลี่ยนก็ต้องใช้เวลา และเชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

“จากการตรวจเยี่ยม รพ. พบว่าบุคลากรก็มีความสุขดี แต่ก็ได้กำชับผู้บริหารเรื่องการปรับระบบไป แต่ปัญหาต้องค่อยๆ แก้ ทั้งน้องใหม่ และพี่ที่อยู่เก่า ต้องปรับตัวกันไป” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image