“หมอบุญ” ชี้ทางแก้ปมบุคลากรแพทย์ขาดแคลน ต้องใช้เทคโนโลยี-เพิ่มป้องกันโรค

“หมอบุญ” ชี้ทางแก้ปมบุคลากรแพทย์ขาดแคลน ต้องใช้เทคโนโลยี-เพิ่มป้องกันโรค

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และการใช้ AI ในการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ระหว่างร่วมการประชุมและจัดแสดงนวัตกรรมทางการแพทย์ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ.2566 หรือ Siriraj International Conference In Medicine And Public Health 2023 (SICMPH 2023) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า วันนี้ ประเทศไทยพบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์น้อย โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีระดับสูงอย่าง AI ที่ช่วยตั้งแต่การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การตรวจโดยแพทย์

“อย่างทาง โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ผู้ป่วยเข้ารับบริการวันละหลายหมื่นคน แต่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ นอกนั้น เป็นอาการที่สามารถรักษาที่บ้านได้ อย่างผู้ป่วยติดเตียงที่ป่วยด้วยโรคทั่วไป แต่เวลาไป รพ. จะต้องใช้รถพิเศษในการเดินทาง ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น ทาง THG ก็ใช้วิธีการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีแพทย์ไปพบผู้ป่วยแทน ออกไป 1 ครั้ง ก็สามารถดูแลได้หลายบ้าน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีน้อยอยู่แล้วได้ ทุกวันนี้ที่มีปัญหา เพราะบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.ต่างจังหวัด ลาออก เนื่องจากทนความกดดันไม่ได้ ความคาดหวังของสังคมสูง และความเครียดในที่ทำงาน เพราะหมอทำงานเหนื่อย ไม่ว่าแต่ต้องมีเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่จะลดภาระงานของแพทย์ได้” นพ.บุญ กล่าว

Advertisement

นพ.บุญ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว ซึ่งท้องถิ่นก็ไม่ทราบว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อ ทาง THG ก็เข้าไปช่วยด้วยการใช้เทเลเมดิซีน (Telemedicine) และ AI ผลของการดำเนินการกว่า 1,000 ราย พบว่ามีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 80 เพราะผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี และไม่ต้องเดินทางไป รพ. ดังนั้น เทคโนโลยีมีความสำคัญที่สุด

“อยากร้องขอไปยังหน่วยงานราชการ เพราะเกิดความผิดพลาดตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ ที่เน้นเรื่องการรักษา แต่สิ่งสำคัญคือ การป้องกันโรค ขณะนี้เราพูดคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเกือบเดือนแล้ว ว่า จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมากกว่าการรอไปรักษา เพราะถ้า สปสช. ไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะล้มละลาย เนื่องจากขณะนี้มีการใช้งบเพื่อรักษาโรคมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 60 เป็นการรักษาโรคหัวใจและโรคไต ถ้าใน 5 ปีไม่มีการส่งเสริมป้องกันโรค ก็จะใช้งบ 7,000-8,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีคนเสียภาษีไม่ถึงร้อยละ 20 ดังนั้น ตรงนี้เป็นค่าใช้ที่จ่ายสูงมาก การใช้เทคโนโลยีจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะลดการเดินทางไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน และเพื่อให้ผู้ป่วยร้อยละ 5 ที่ต้องการแพทย์จริงๆ ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่” นพ.บุญ กล่าวย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image