ฟาร์มหมู ต้นเหตุ คุณภาพน้ำผิวดินแม่กลองต่ำกว่ามาตรฐาน

ฟาร์มหมู ต้นเหตุ คุณภาพน้ำผิวดินแม่กลองต่ำกว่ามาตรฐาน คพ. ติวเข้มกลุ่มเลี้ยงหมูราชบุรี แก้ไขปัญหาน้ำเสีย

วันที่ 29 มิถุนายน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จังหวัดราชบุรีมีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดของประเทศ ฟาร์มส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอำเภอปากท่อ จอมบึง เมืองราชบุรี โพธาราม บางแพและบ้านโป่ง การเลี้ยงสุกรเป็นแหล่งที่มีมลพิษมากจึงก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทและข้อร้องเรียนจากประชาชนกรณีได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการระบายน้ำเสียที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสุกรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การลักลอบระบายน้ำเสียออกจากฟาร์มสุกรที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสาธารณะของประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรีและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

นายปิ่นสักก์กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน จังหวัดราชบุรี ในแม่น้ำแม่กลอง คลองวัดประดู่และคลองสาขา พบว่า มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทที่ 4 ร้อยละ 70 และประเภทที่ 5 ร้อยละ 30 ซึ่งมีดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำที่เป็นปัญหา ได้แก่ ค่าออกซิเจนละลาย (DO) ค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) และแอมโมเนีย (NH3-N)

Advertisement

เพื่อให้ปัญหาน้ำเสียจากการประกอบกิจการเลี้ยงสุกร ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง คพ.จึงได้จัดอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสุกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดราชบุรีให้กับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร ในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ณ เทศบาลตำบลหลักเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุง ดูแล รักษาระบบการเลี้ยงและระบบบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรให้สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข โดยไม่มีปัญหาเรื่องร้องเรียน และผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรในจังหวัดราชบุรี ได้มีความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสุกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำความรู้ที่ได้รับกลับไปดำเนินการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพน้ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image