‘แผ่นดินไหว’ ไม่ไกลตัว เรียนรู้-รับมือ-ลดรุนแรง

‘แผ่นดินไหว’ ไม่ไกลตัว เรียนรู้-รับมือ-ลดรุนแรง

ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน คนไทยรับรู้และประสบกับสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้งด้วยกัน
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0

เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.

อีก 10 วันต่อมา คือ วันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และ จ.เลย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
จากรายงานข่าวของกรมทรัพยากรธรณี เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ ต.ปากทาง อ.เมือง จ.พิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4-5 (เบา-ปานกลาง) ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง

Advertisement

“อรนุช หล่อเพ็ญศรี” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลว่า โดยสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ปี 2516-2566 ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 โดยเหตุการณ์ขนาด 7.0 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534 ที่เมือง Mogok สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
กรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกล ชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า
ที่สำคัญกรุงเทพฯตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก และอาจจะเสียหายได้

อธิบดีกรมทรัพกรธรณีบอกอีกว่า ประเทศ ไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่ม รอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด

โดยปัจจุบัน รอยเลื่อนที่พบว่ามีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2-4.5 จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

Advertisement

“สำหรับบริเวณภาคใต้ พบว่ามีกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.พังงา สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ ขณะที่กลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ จ.ระนอง จากประวัติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่า มีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้น 3-4 เดือนต่อครั้ง มีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ” อธิบดีกรมทรัพกรธรณีให้ข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกี่ยวกับประเทศไทย

ขณะที่ รศ.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยเรื่องแผ่นดินไหว จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนั้น ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และ จ.เลย รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน เกิดจากรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ใต้ดินไม่เคยมีพลังงาน นอกเหนือจาก 16 รอยเลื่อนที่มีพลังงาน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี บริเวณแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้คู่ขนานกับแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางตะวันออกของศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว มีการคาดว่าเป็นรอยเลื่อนรอบแขนงของรอยเลื่อนที่มีพลังงาน เกิดการสะสมพลังงานในตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสั่นไหว และเป็นรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดิน

“ในทางวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ คณะทีมนักวิจัยจึงออกแบบโมเดลแผนที่จำลองที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง ซึ่งแผนที่ป้องกันความเสี่ยงว่าพื้นที่ตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว จะมีส่วนช่วยในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างทันท่วงที และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อคลายความกังวล” รศ.ธีรพันธ์แนะนำ

ด้าน รศ.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยด้านแผ่นดินไหว จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมว่า ลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนั้น สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนนั้น จุดศูนย์กลางเป็นจุดที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี

“เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป ทางกรมทรัพยากรธรณีระบุว่าประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวใน จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ปี 2533-2566 ขนาด 4-4.9 พบ 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อรอยเลื่อนมีพลังมากในบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ ทีมนักวิจัยได้นำงานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยและสนับสนุนการวางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต” รศ.ภาสกรเผยถึงการนำงานวิจัยมาช่วยลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว

“ศ.อมร พิมานมาศ” นักวิจัยอีกท่าน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง ประชาชนสามารถรับรู้และรู้สึกได้ แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงต้องเตรียมรับมือ อยากให้คนไทยตระหนักแต่อย่าตระหนก และเราสามารถรับมือด้วยมาตรการทางโครงสร้างและกฎหมาย ทิศทางการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างอาคารที่ปลอดภัย

“ดังนั้น เจ้าของอาคารต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียในอนาคต” ศ.อมรแนะนำ

หลายคนอาจคิดว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทย แต่ไม่มีใครรู้ว่าภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวนั้นจะเกิดเมื่อไร และจะรุนแรงแค่ไหน การเตรียมพร้อมรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น…จึงต้องมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image