ปลัด สธ. เผยโควิดไทยขาลง แจงเหตุคนติดเชื้อไอเรื้อรัง เพราะไวรัสทำหลอดลมตีบ

ปลัด สธ. เผยโควิดไทยขาลง แจงเหตุคนติดเชื้อไอเรื้อรัง เพราะไวรัสทำหลอดลมตีบ

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย สอดคล้องกับที่มีสัญญาณในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต เริ่มลดลง และส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19

“ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการระบาดรูประฆังคว่ำ ที่พุ่งสูงขึ้นแล้วค่อยๆ ลดลง ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลงแล้ว ทั้งนี้ จะต้องดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงปิดเทอม ปีใหม่ และช่วงหน้าหนาว แต่ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล” นพ.โอภาสกล่าว

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่ติดโควิด-19 ในระยะหลังพบว่ามีอาการลองโควิดเรื้อรังมากขึ้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้ว ก็ยังพบอาการลองโควิด เช่น ไอเรื้อรัง นพ.โอภสกล่าวว่า จริงๆ คำว่า ลองโควิด เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้พูดถึงคำว่าลองโควิด

“ส่วนเรื่องอาการที่เกิดขึ้นนั้น เวลาที่เราติดเชื้อโควิด-19 ก็มีอาการหลายแบบ บางครั้งก็เกิดอาการตามหลังได้ เท่าที่ตามดูข้อมูลจากโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องลองโควิดมาก มีบางส่วนที่รู้สึกไม่สบายตัว แต่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง สุดท้ายอาการต่างๆ ก็จะหายไป ทั้งนี้ กรมการแพทย์ก็ยังเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ใกล้ชิด เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหาจนน่าวิตกกังวล ส่วนอาการไอเรื้อรัง ก็เกิดขึ้นได้ เพราะเชื้อไวรัสทางเดินหายใจหลายตัว เมื่อหายติดเชื้อ ก็จะกระตุ้นให้หลอดลมตีบ คล้ายเป็นหอบหืด ซึ่งจะเป็นอีกระยะหนึ่ง อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเกิดมีปัญหา ก็ควรไปปรึกษาแพทย์” นพ.โอภาสกล่าว

ADVERTISMENT

ปลัด สธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันก็ยังมีการฉีดอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งกำลังปรับกระบวนการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้เข้มข้นขึ้น ส่วนคนทั่วไป เมื่อติดเชื้อก็จะไม่มีอาการรุนแรงแล้ว

“ส่วนใหญ่ คนไม่ฉีดวัคซีนเพราะกลัวว่าฉีดมากเกินไปแล้วจะไม่ดี ส่วนใหญ่กลายเป็นญาติๆ ที่ไม่อยากให้ผู้สูงอายุฉีด แต่ยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และมีประโยชน์” นพ.โอภาสกล่าวย้ำ

 

วันเดียวกัน กรมควบคุมโรค สธ. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลรายใหม่ จำนวน 859 ราย เฉลี่ย 122 รายต่อวัน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 255 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 166 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 43 ราย เฉลี่ย 6 รายต่อวัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม จำนวน 28,504 ราย เสียชีวิตสะสม 702 ราย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image