อภ.รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากเกาหลี คาดปี’67 ได้เห็นต้นแบบ

อภ.รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากเกาหลี คาดปี’67 ได้เห็นต้นแบบ

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่าง อภ.โดย พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ อภ. และ นายอัน แจ ยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SK Bioscience จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมี นายจอน โจยอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกัน ควบคุม ลดการป่วยรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 สธ.ของไทยได้ร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) “Thailand-IVI Ratification Ceremony” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อระดมความร่วมมือจากนานาชาติ ในการสร้าง “อนาคตของวัคซีนเพื่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ” โดยได้มีการลงนามในเอ็มโอยูระหว่าง สธ. ของประเทศไทย กับ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนนั้น ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การลงนามในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย โดย สธ.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างเต็มที่

Advertisement

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนของ อภ. ได้ดำเนินการการวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับใช้ในกรณีที่มีการระบาดและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จนประสบความสำเร็จ และจากวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่ผ่านมา อภ.ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ (Egg-based technology) นอกจากนี้ ยังได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based technology)

“การลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือกับ SK bioscience Co., Ltd ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based inactivated influenza) ชนิด 3 และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to fill bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุ เพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug product) โดย อภ.เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุน (Facility and Utility) ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และความชำนาญให้กับบุคลากรอีกด้วย” พญ.มิ่งขวัญกล่าว

Advertisement

ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า บริษัท SK bioscience Co., Ltd จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับ อภ. เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับสากล เช่น WHO Prequalification รวมทั้งการศึกษาโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญ (Drug substance) ในประเทศไทย หรือใช้สถานที่และระบบสนับสนุนของ อภ. ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพในการรองรับการระบาดใหญ่ (Pandemic) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวจะขยายขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและตอบสนองด้วยการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคอาเซียน

ด้าน นายอัน แจ ยอง กล่าวว่า สาเหตุที่เลือก อภ.มาร่วมมือด้วย เพราะไทย และ อภ.มีความพร้อม ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เชื่อว่าความร่วมมือจะเกิดได้ด้วยดี ซึ่งในอดีตเกาหลีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยมาหลายช่องทาง และวัคซีนเป็นหนึ่งในรายการที่มีการร่วมมือกันก่อนหน้านี้มานาน การร่วมมือในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสถานที่การผลิตของ อภ.ก็ถือเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนานแค่ไหน และจะได้เริ่มใช้เมื่อไร พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า หลังจากลงนามจะมีการตกลงกันเรื่องความร่วมมือในเชิงของราคา โดยตกลงกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว

“ปีหน้าน่าจะได้ตัววัคซีนในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุหรือแบบแบ่งบรรจุ ซึ่งเป็นลักษณะของกลางน้ำ จากนั้น จะเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คาดว่าไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ วัคซีนที่อยู่ในไปป์ไลน์ของ อภ. มีทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 GPO Vac การลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นความก้าวใหญ่ เพราะเกาหลีใต้มีเรื่องการผลิตวัคซีนอื่นๆ อีกหลายตัว ที่มองไว้ว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นต้น” พญ.มิ่งขวัญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image