ปลัด สธ. เผย ก.พ. จ่อชง ครม. เห็นชอบแผนแก้ปัญหา ‘หมอ-พยาบาลขาดแคลน’ ให้เกิดรูปธรรมใน 30 วัน

ปลัด สธ. เผย ก.พ. เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบแผนแก้ปัญหา ‘หมอ-พยาบาลขาดแคลน’ ให้เกิดรูปธรรมใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง ครั้งที่ 7/2566 ว่า วันนี้มีการหารือกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการติดตามงานต่างๆ คือ 1.โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย สธ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิทันตนวัตกรรม เพื่อให้บริการฟันเทียมและรากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันจนไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งพบว่า ยังมีการให้บริการต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ เนื่องจากการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของประชาชนยังมีปัญหาอยู่ สธ. จึงเร่งออกนโยบาย พัฒนาโรงพยาบาล (รพ.) ทันตกรรม ให้มีทุกจังหวัดของประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น

นพ.โอภาสกล่าวว่า 2.การก่อสร้างภายในของ สธ. ที่มักพบปัญหาตรวจและควบคุมการก่อสร้าง จากเดิมต้องมีช่างจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จากส่วนกลางลงไปควบคุม ดังนั้น นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี สบส.จะปรับระบบให้มีนายช่างลงไปอยู่ประจำทุกจังหวัด เพื่อควบคุมการก่อสร้าง ให้งบประมาณที่ใช้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น และหากเราควบคุมงานได้ดี ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานก็จะน้อยลงด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาด้านกำลังพลหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะนำเรื่องที่ได้หารือกับ สธ. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ หรือหากถ้าไม่ทัน ก็คาดว่าเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งให้เกิดการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมใน 30 วัน

“นอกจากนั้น นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ได้สะท้อนปัญหาด้านบุคลากรพยาบาลที่เกิดขึ้นว่า รพ.บ้านแพ้ว มีศักยภาพในการพัฒนาการให้บริการประชาชนได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะขาดแคลนพยาบาล ขณะที่ ศ.พิเศษ นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ได้รายงานว่า สถาบันฯผลิตพยาบาลได้ปีละ 4,000 กว่าคน ซึ่งไปรวมกับหน่วยงานอื่นก็จะเป็นปีละหมื่นกว่าคน ซึ่งสถาบันฯก็จะเร่งรัดผลิตพยาบาลให้มากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

ปลัด สธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องความก้าวหน้าในการทำงานของวิชาชีพพยาบาล ที่ขึ้นตำแหน่งเป็นชำนาญการพิเศษ หรือ C8 ได้ยาก หลายคนที่เป็นหัวหน้าพยาบาลยังไม่ได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งเราต้องเร่งผลักดันไปยัง ก.พ.ต่อไป รวมถึงต้องศึกษาแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการบุคลากรด้านสาธารณสุข เหมือนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทั้งนี้ บุคลากรของ สธ.มีสาขาเยอะ ดังนั้นจะต้องดูทั้งระบบทั้งเรื่องจำนวน สายวิชาชีพ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนและภาระงานถามถึงว่าที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาหลังการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปให้ท้องถิ่นหรือไม่

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ได้หารือกันตามที่ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้อยู่หน้างานจริงๆ ได้สะท้อนปัญหามาว่าหลาย รพ.มีภาวระงานเพิ่มขึ้น เนื่องจาก รพ.สต.ไม่สามารถให้บริการได้ ประชาชนจึงกลับไปรับบริการที่ รพ.มากขึ้น ซึ่งขอย้ำว่า สธ.เห็นด้วยกับการถ่ายโอน แต่ควรจะมีความพร้อมเพราะจริงๆ มีกฎหมายหลายฉบับที่ยังไม่มีการแก้ไขก่อนถ่ายโอน เช่น กฎหมายวิชาชีพ กฎหมายด้านการเงิน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว สธ.ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณข้ามหน่วยงานได้

“ที่ผ่านมา ในช่วงแรกของการถ่ายโอน สธ.ทำหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า สธ.จะช่วยสนับสนุนด้านบุคลากรอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเมื่อครบกำหนด สธ.ก็ได้ทำหนังสือไปเป็นฉบับที่ 2 ไปสอบถามว่า อบจ.มีความพร้อมแล้วหรือยัง หลายแห่งก็พร้อมแล้ว แต่หลายแห่งยังไม่พร้อม เราก็ให้ความช่วยเหลือต่อ” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาที่คณะทำงานร่วมระหว่าง สธ.และ ก.พ.จะเสนอต่อที่ประชุม ครม.นั้น เป็นไปตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน โดยจะเน้นภาพรวมก่อนเพื่อให้ ครม.เห็นชอบการดำเนินการ ซึ่งสำนักสารนิเทศ สธ.ได้มีการสรุปเป็นข่าวเผยแพร่ผลการหารือครั้งก่อนไว้ผ่านเว็บไซต์ https://pr.moph.go.th/ แบ่งข้อสรุป ดังนี้

1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น

2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ รวมทั้งจะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 48 แห่งของ สธ.ที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ.ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ

4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบัน สธ.ได้รับจัดสรรไม่ถึงร้อยละ 70 จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น ร้อยละ 85

และ 5.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่าแพทย์คงอยู่ในระบบมากถึงร้อยละ 90 ดังนั้นจะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2,000 คน ตามความต้องการของ สธ. ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะมีการเสนอกับแพทยสภาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image