กฤษฎีกาชี้ สปสช.มีอำนาจจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพให้ไทยทุกคน จ่อลุยต่อหลัง ครม.อนุมัติ

กฤษฎีกาชี้ สปสช.มีอำนาจจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพให้ไทยทุกคน จ่อลุยต่อหลัง ครม.อนุมัติ

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2566) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีการพิจารณาและเห็นชอบ วาระ 3.1 ความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลงและการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เสนอโดย นางอุดมลักษณ์ อุ่นศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่มาของวาระดังกล่าวสืบเนื่องจากบอร์ด สปสช. มีความมุ่งหวังให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน และไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย จึงเห็นชอบให้ทำความชัดเจนประเด็นมาตรา 9 และ มาตรา 10 ถึงความครอบคลุมการดูแลประชากร โดยให้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ ในสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามที่ สธ.เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งภายหลังบอร์ด สปสช. ได้พิจารณาเพิ่มความครอบคลุมผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองอีก 6 กลุ่ม

“ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 แจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแล้ว โดยสรุปความได้ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ไม่สามารถตรวจพิจารณาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บัญญัติให้ “บุคคลทุกคน” มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สปสช.จึงมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่บุคคลทุกคนโดยเท่าเทียมกัน” นพ.จเด็จ กล่าว

Advertisement

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นอกจากนี้ ตามมาตรา 18 (14) บัญญัติให้ บอร์ด สปสช. มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ครม.มอบหมาย โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ครม. มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบวงเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ครอบคลุมการให้บริการสาธารณสุขแก่ “ประชากรไทยทุกคน” ไม่ได้ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 9 และมาตรา 10 คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ มีความเห็นว่า สปสช.มีอำนาจในทางบริหาร ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. ตามมาตรา 5 ประกอบกับมาตรา 18 (14) ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการสมควรที่ ครม.จะได้มีมติให้ สธ., สปสช. ตลอดจนองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ต่อไป เพื่อคุ้มครองสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของประชากรไทยทุกคน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ นี้ ล่าสุด บอร์ด สปสช. ได้รับทราบ แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอมติจาก ครม. ในการดำเนินการ เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับคนไทยทุกคน โดยในระหว่างนี้ สปสช.จะทำจัดทำร่างประกาศฯ หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 เพื่อกำหนดการเบิกจ่ายสำหรับบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนามต่อไป

Advertisement

ทันทีที่มีมติ ครม. ออกมารองรับตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ และเมื่อร่างประกาศฯ มีผลบังคับใช้ สปสช.พร้อมที่จะดำเนินการทันที รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งขณะนี้ มีหน่วยบริการที่ได้ให้บริการผู้ไม่ใช่สิทธิบัตรทองไปแล้ว และรอการเบิกจ่ายอยู่ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เกรงว่า ขณะนี้ใกล้วันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ 2566 จะทำให้เงินก้อนนี้ตกไปนั้น ตามระเบียบสำนักงบประมาณกำหนดให้ กรณีที่ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณได้ทัน ในช่วง 1 ปี เป็นอำนาจของเลขาธิการ สปสช. ในการขอกันเงินงบประมาณที่เหลืออยู่ไปใช้ต่อได้ อย่างไรก็ตาม ต้องชี้แจงว่า สปสช.มีแผนในการใช้งบประมาณที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหาและขอให้มั่นใจประชาชนได้” นพ.จเด็จ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image