สส.ชู 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสังคมคาร์บอนต่ำในสถานศึกษา

สส.ชู 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสังคมคาร์บอนต่ำในสถานศึกษา

เมื่อ​วันที่ 6 กรกฎาคม นายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีความเสี่ยงที่จะหมดลงในอนาคตอันใกล้

มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ.2030 และมากกว่า 9 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ.2050 ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือการแย่งชิงที่ดิน น้ำ และพลังงาน อีกทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีแนวโน้มที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า โดยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคีเครือข่าย หน่วยงานการศึกษา รวมทั้งภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ เปลี่ยนมุมมอง “ขยะ ให้เป็นสิ่งมีค่า” สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ ลดปริมาณของเสียเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด บริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรณรงค์การใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้

ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ หรือ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

นายวรพลกล่าวว่า สส.สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ให้กับสถานศึกษา ผ่านโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยในครั้งนี้เป็นการสัมมนาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู จากกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสุพรรณบุรี จำนวน 250 คน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือ 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การเสวนานวัตกรรมการจัดการขยะ..ยกกำลัง 2 รับเทรนด์ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้ มุมมอง เทคนิควิธีการจัดการขยะที่ทันสมัยในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในสถานศึกษา และพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงการบริหารนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image