“อนุทิน” ขอบคุณ คสช. 4 ปี ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน จ่อขับเคลื่อนถึงวัด-ชุมชน-สถานศึกษา

“อนุทิน” ขอบคุณ คสช. 4 ปี ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน จ่อขับเคลื่อนถึงวัด-ชุมชน-สถานศึกษา

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2566 ทั้งนี้ ก่อนประชุมตามระเบียบวาระ นายอนุทินได้กล่าวขอบคุณกรรมการ คสช. และทีมงานสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ทำงานร่วมกันมาตลอดเวลา 4 ปี จนเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19

นายอนุทินกล่าวว่า ตลอดเวลา 4 ปี ของการทำงานร่วมกับ คสช. และ สช. ซึ่งเกิดผลงานที่มีความสำคัญระดับประเทศและพื้นที่มากมาย เช่น การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565, การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (HIA) พ.ศ.2564, การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวม 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2562-2565 จนเกิดเป็น 12 มติ เพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ที่ทำให้เกิดมาตรการสู้ภัยโควิด-19 ของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหนุนเสริมมาตรการของรัฐบาล

Advertisement

“ยังมีความน่ายินดีที่เกิดขึ้นกับวงการสาธารณสุขของไทย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีรายงานการจัดอันดับดัชนีว่าด้วยเสรีภาพและความมั่งคั่ง ประจำปี 2566 ของสถาบัน Atlantic Council สหรัฐอเมริกา โดยไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 164 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยได้คะแนนตัวชี้วัดด้านสุขภาพสูงถึง 90.9 คะแนน สูงจนสามารถดึงคะแนนรวมของประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูง สะท้อนศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยว่าอยู่ในแถวหน้าของโลก” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม คสช.ได้มีมติรับทราบการประกาศใช้และแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อบรรลุใน 3 ด้าน คือ 1.พระแข็งแรง ด้วยระบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 2.วัดมั่นคง ด้วยการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของชุมชน   3.ชุมชนเป็นสุข ด้วยบทบาทพระสงฆ์และวัดในการสร้างเสริมสุขภาพ

Advertisement

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติรับทราบความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ สช.ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทาง หรือข้อตกลงร่วมของนักเรียน ครู และผู้ปกครองภายในสถานศึกษา ในการสร้างสุขภาพ ทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและชุมชนตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ สช. ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่า เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้มีความพร้อมทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา และมีสุขภาพที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งภายใต้กรอบของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การทำสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระบบสุขภาพและสังคมที่เป็นธรรม

“ศธ. และ สช.เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีการหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด ศธ. ในการดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นกรอบและทิศทางในการสร้างสุขภาวะภายในโรงเรียน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการระบบดูแลสุขภาพของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน ฯลฯ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ขณะที่ ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2566 ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้แทนหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องรวม 12 หน่วยงาน ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน โดยการค้นหารูปธรรมการทำงาน ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในประเด็น 1.พระสงฆ์กับการดูแลตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะชุมชนและสังคม 4.การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2566

ผศ.วีระศักดิ์กล่าวว่า ผลการหารือของทั้ง 12 หน่วยงาน ยังได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษาวิจัย การจัดการข้อมูล การประเมินผลและจัดทำรายงานสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสุขภาพทุกมิติของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ คณะสงฆ์ และองค์กรพระพุทธศาสนา 2.การพัฒนานวัตกรรม ช่องทางการสื่อสารข้อมูล องค์ความรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์ และการสื่อสารสาธารณะ 3.การดำเนินงานผ่านกลไกต่างๆ ในระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 พ.ศ.2567-2568 โดยมี นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการวางแผนดำเนินการและจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมประสานกับภาคีเครือข่ายระดับต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ตลอดจนดำเนินการรวบรวมมติและข้อเสนอจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อ คสช. เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินการสู่การปฏิบัติต่อไป

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเสนอพิจารณาแต่งตั้ง คจ.สช. ชุดใหม่นี้ เพื่อให้การเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2 ครั้งต่อไป สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน หลังจาก คจ.สช. ครั้งที่ 15-16 ชุดปัจจุบันที่มี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งหลังจากการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ปี 2566 เสร็จสิ้นลง โดยมีการกำหนดจัดระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคมนี้ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

สำหรับ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นผู้บริหารและนักวิชาการจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ประธานคณะกรรมการสนับสนุนศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) ที่แต่งตั้งโดย คสช. และเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image