ชัชชาติ ลั่น ต้องมีคนรับผิดชอบ เหตุสะพานข้ามแยก ลาดกระบัง ถล่ม ชี้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย

ชัชชาติ ลั่น ต้องมีคนรับผิดชอบ เหตุสะพานข้ามแยก ลาดกระบัง ถล่ม ชี้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม สืบเนื่องกรณีสะพานข้ามแยกย่านลาดกระบังทรุดตัว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

ต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เดินทางถึงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.), นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธาและคณะ, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.ลาดกระบัง และนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า สิ่งเร่งด่วนต้องประเมินความปลอดภัยของโครงสร้างก่อน มีการพังที่รุนแรง มีเสาหัก มีโครงสร้างซึ่งยังไม่เสถียร อาจจะพังต่อเนื่องได้ เท่าที่ดูมี 3 ส่วน เสา, คาน ที่เอาชิ้นต่อกันแล้วดึงลวด และด้านบนมีโครงเหล็ก คือ ลอนเชอร์ ที่เอาไว้ห้อยคานข้างล่าง ตอนนี้อาจจะมีความไม่เสถียร จะเข้าไปในพื้นที่ต้องประเมินความปลอดภัยด้านวิศวกรรมก่อน ก็มอบให้รองปลัด สำนักโยธาฯและผู้รับเหมามาประเมินความปลอดภัยก่อน เพราะยังมีศพค้างในนั้นอีก 1 ท่าน และ ไม่แน่ใจว่ามีคนติดค้างใต้ซากไหม

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ขณะที่ผู้บาดเจ็บ ผอ.ศูนย์เอราวัณ ร่วมกับ ผอ.รพ.ลาดกระบัง เป็นผู้รวบรวม หากมีผู้สูญหาย ญาติไม่กลับบ้าน ก็ให้แจ้งเข้ามาที่ 199 จะได้รู้ว่ามีผู้สูญหายหรือไม่ เพราะเป็นถนนสาธารณะ นอกจากนี้ จะตั้งศูนย์ที่วัดพรหมณี และสั่ง ผอ.เขตดูที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบ ที่อาจต้องตัดไฟบางส่วน และคมนาคมพรุ่งนี้ เร่งให้คืนกลับสู่สภาพปกติ ทั้งนี้สถานการณ์ยังไม่แน่นอน คนไม่เกี่ยวข้อง ขอให้อยู่ในบ้านเรือน อาจมีบางส่วนที่ไม่มั่นคงอีก

ภาพจาก @wirojlak

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า ดูจากสภาพ การก่อสร้างที่หยุดแล้ว ต้องวิเคราะห์สภาพก่อน คานมีความต่อเนื่อง ต้องประเมินว่าส่วนอื่นมั่นคงอีกแค่ไหน ภาวะการกู้ภัย ไม่สามารถเข้าไปได้ทันที ต้องฟังวิศวกรด้วย ต้องดูว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ในการยกหรือตัดถ่าง ทุกอย่างต้องดำเนินร่วมกัน สั่งการให้ ผอ.สำนักโยธาฯแล้ว ให้เรียกผู้รับเหมา ผู้คุมงานมาดู เพื่อดูว่าทำขั้นตอนไหนอยู่ จะได้หาจุดอ่อนของการทำงานได้

“โครงการนี้ 3-4 ปีแล้ว ต่อเนื่องมา เป็นทางยกระดับที่ยาว ผู้รับเหมาชื่อ นภา มีสำนักงานโยธาฯ ควบคุมงาน เป็นโครงการของ กทม. 1,600 ล้าน กำหนดการต้องเสร็จ 11 สิงหาคมปีนี้ แต่เจอโควิด จึงเลื่อนเป็น 17 กันยายน ปีหน้า”

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จุดอ่อนคือระหว่างการทำงาน ไม่มีความมั่นคง คอนกรีตยังไม่ได้เทให้มีความมั่นคง ตอนนี้ถ้าพังก็พังตอนก่อสร้าง ต้องไปดูสาเหตุ เป็นเรื่องไม่ควรเกิด และต้องดูโครงการต่างๆ ให้รอบคอบ ในอนาคต การก่อสร้างคงต้องดีเลย์ ต้องดูความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้ก่อน

“ต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะมีผู้เสียชีวิต เรื่องนี้เท่าที่ดูไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เป็นโครงการก่อสร้างปกติ ไม่ได้มีเหตุสุดวิสัย เป็นอุบัติเหตุที่ต้องมีข้อผิดพลาด ตามหลักไม่ควรมีการพังทลายเกิดขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกี่ยวข้องกับฝนที่ตกหนัก ทำให้ดินอ่อนของลาดกระบังไหม นายชัชชาติกล่าวว่า ฐานรากพวกนี้ใช้เข็มลึกมาก ลึกทั้งหินและทราย เสาพวกนี้ต้องมั่นคง ไม่ใช่ฝนตกแล้วพัง เสาอยู่เป็นร้อยปี ต้องออกแบบเผื่อไว้แล้ว เข็มลงลึกถึงชั้นทรายแน่น ฝนตกไม่มีปัญหา คิดว่าต้องมีการผิดพลาดระหว่างติดตั้ง เพราะช่วงติดตั้งอ่อนแอที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำมาเป็นร้อยเป็นพันสะพานแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image