‘ชัชชาติ’ เผย ‘วิศวกรดึงลวด’ เสียชีวิต 2 ราย สั่งรื้อสะพาน คาดเสร็จวันนี้-ย้ำ ค่อยๆ ถอน

‘ชัชชาติ’ เผย เสียชีวิต 2 เป็น ‘วิศวกรดึงลวด’ สั่งรื้อถอนสะพาน คาดวันนี้เสร็จ ย้ำต้องค่อยๆ ป้องกันถล่มซ้ำ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 กรกฎาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องกรณี สะพานข้ามแยกย่านอ่อนนุช-ลาดกระบังทรุดตัว กรุงเทพมหานคร นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม., นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม., น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. และนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา ร่วมแถลงข่าวเหตุการณ์ก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง

นายชัชชาติเปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นกิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา ประมูลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มีงาน 2 ส่วนคือ งานของการไฟฟ้านครหลวง กับงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประมูลวงเงินตามสัญญาคือ 1,664.55 ล้านบาท ราคากลาง 1,665 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 400,000 บาท แต่ประมูลตั้งแต่ก่อนเราเข้ามา 2-3 ปีก่อน และเป็นทางยกระดับความยาวประมาณ 3 กิโลครึ่ง ยก 4 ช่องจราจร และมีการปรับปรุงสะพาน กสร.ข้ามคลอง มีระบบไฟแสงสว่าง ส่วนงานของการไฟฟ้าอีกประมาณ 200 กว่าล้านบาท มีปัญหาคือความล่าช้า และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้มีการตั้งกระทู้อยู่ในสภา กทม. ซึ่งเราก็พยายามเร่งรัดการดำเนินการอยู่

Advertisement

นายชัชชาติอธิบายว่า เกิดเหตุเมื่อวาน เวลา 17.40 น. หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. โครงสร้างสะพานที่เป็น Box segment และมีตัวโครงทรัสอยู่ด้านบน การดึงลวดอัดแรงเกิดการวิบัติและพังลงมา มีความเสียหาย 1 ช่วงสะพานกับอีกประมาณ 2 เซ็กชั่น และมีเสาพัง 2 ต้น คือ Pier 83 และ 84

“ชิ้นส่วนสะพานตกลงมาตรงกลางและไปช่องซ้ายการจราจรหน้าปั๊ม ปตท. มีคนงานได้รับบาดเจ็บ 7 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คน เป็นวิศวกรที่ทำเรื่องดึงลวด อีก 1 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 ส่วนบุคคลทั่วไปไม่มีผู้เสียชีวิต อาจจะมีบาดเจ็บบ้าง ถือว่าโชคดี เพราะฝั่งตรงข้ามจะเห็นรถที่โดนทับอยู่คันหนึ่ง แต่คนขับเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดี จึงวิ่งหนีออกมากับคนที่นั่งมาด้วย พอวิ่งออกมารถก็โดนทับตรงฝากระโปรง” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กรอบสถานการณ์คือ เที่ยงคืนเราได้สั่งการให้เตรียมรื้อถอน เอาบริษัทผู้รับเหมาเข้ามา มีผู้รับเหมา 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาที่ทำตัวทรัสหรือลอนเชอร์ และมีผู้รับเหมาที่ดึงลวด เพราะตัวเหล็กอยู่บนสุด มีตัวคอนกรีตและมีตัวเสา เพราะฉะนั้นต้องเอาตัวเหล็กออกก่อน

 

“เมื่อตอนเที่ยงคืนได้ให้หน่วยบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปปูพรมอีกทีหนึ่งว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างล่างแน่นอนแล้ว เราต้องมั่นใจก่อน เพราะถ้ามีคนติดอยู่ข้างล่างจะต้องกู้ชีพก่อน เขาก็ไปตรวจอีกทีว่าไม่มี แล้วก็ดำเนินการรื้อ ใช้วิธียกเครน เอาเครน 200 ตัน 3 ตัว มายกชิ้นส่วนทรัสด้านบนออกก่อน ชิ้นส่วนหนักประมาณ 7 ตัน 4 ชิ้น เมื่อเช้าเริ่มยกตอนประมาณ 7 โมงเช้า และจะทยอยยกไปเรื่อยๆ วันนี้คงจะเสร็จ

“เวลารื้อจะต้องระวัง เพราะสภาพมันไม่เสถียร ถ้าเกิดรื้อไปมันอาจจะมีน้ำหนักที่ถูกเอาออกทำให้เสียสมดุล และอาจมีการหล่นลงมาอีกทีหนึ่ง จะต้องมีการค้ำยันให้ดีก่อน ค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นเมื่อเอาโครงเหล็กออกต้องไปทำตัวคอนกรีตด้านล่างต่อ” นายชัชชาติเผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image