ก.แรงงาน เอ็มโอยู เกาหลีใต้ ยกระดับความปลอดภัยในการทำงาน

ก.แรงงาน เอ็มโอยู เกาหลีใต้ ยกระดับความปลอดภัยในการทำงาน

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายประทีป ทรงลำยอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานเนื่องในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชา (เอ็มโอยู) การด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กับองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมี นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดี กสร.และ นายรยู ชาง ชิน (Mr.Ryoo, Jang Jin) รองประธานองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมลงนาม ท่ามกลางสักขีพยานทั้งสองฝ่าย

สำหรับเอ็มโอยูนี้ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการฝึกอบรมทางเทคนิควิชาการต่างๆ การให้คำปรึกษา แนะนำ การสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือโครงการวิจัยในหัวข้อที่มีสนใจร่วมกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และเครื่องมือในด้านสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน อันเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถ ทางวิชาการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของประเทศไทย และช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานของทั้ง 2 ประเทศ มีความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น

Advertisement

นายประทีปกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในครั้งนี้ ดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงที่ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยยกระดับงานด้านความปลอดภัยฯ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความมั่นคง ของแรงงาน อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน อันจะยังประโยชน์และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในการทำงานให้แก่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

“นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำ ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และอนุสัญญา ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ตั้งแต่ปี 2551 จึงถือได้ว่ามีประสบการณ์ในการพัฒนา การดำเนินงานรองรับอนุสัญญาฯ และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำประเทศไทยซึ่งกำลังพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 155 นี้” นายประทีปกล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ใช้แรงงานถือได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และภาครัฐ สำหรับประเทศไทยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้มีจุดเริ่มต้นและเป็นที่รู้จักมากว่า 50 ปี ปัจจุบันพบว่า สถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานและที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว

Advertisement

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และเข้มแข็ง จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคเนื่องจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนทำงานและประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน” นายประทีปกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image