ผอ.ไบโอไทย เตือน 3 ภาค เจอ ‘ดับเบิลเอลนิโญ’ ลากยาวถึงปี 68 ทวีปัญหา “แล้ง-ฝุ่นพิษ”

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เอลนิโญ ว่า เอลนิโญ เป็นวงจรสภาพอากาศตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร ส่งผลทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หากเป็นเอลนิโญก็ทำให้อาการแห้งแล้ง ฝนน้อยสลับช่วง โดยประเทศไทยเข้าสู่เอลนิโญเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั่วทุกภูมิภาคเกิดความแล้ง ฝนตกน้อย อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน คาดการณ์ว่าเอลนีโญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะยาวนานกว่าที่เคยเจอ เรียกว่า ‘ดับเบิลเอลนิโญ’ โดยจะลากยาวไปจนถึงปี 2568 ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบเรื่องอากาศแล้วยังกระทบเรื่องพืชผลทางการเกษตรที่เป็นความมั่นคงด้านอาหารด้วย อย่างล่าสุดประเทศอินเดียก็ประกาศระงับการส่งออกข้าวแล้ว เพราะต้องเตรียมรับมือกับเอลนิโญ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่กว่า 75% ต้องพึ่งพาน้ำฝน ส่วนอีก 25% เป็นเกษตรเขตชลประทาน ดังนั้น พื้นที่ที่พึ่งพาน้ำฝนก็จะได้รับผลกระทบจากเอลนิโญก่อน และตามมาด้วยเขตชลประทาน เพราะเมื่อน้ำฝนน้อย น้ำในเขื่อนก็จะค่อยๆ ลดลงด้วย ขณะเดียวกัน พืชผลทางการเกษตรในไทยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.พืชที่ใช้น้ำในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่เป็นความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด และ 2.พืชเศรษฐกิจใหม่ เช่น ทุเรียน ที่มีความไวต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลงสูง โดยจะเห็นว่าปีนี้ผลผลิตทุเรียนน้อยกว่าปีก่อนๆ มาก

“ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน ได้คาดการณ์ไว้ว่าดับเบิลเอลนิโญ ที่ยาวนานถึงปี 2568 จะส่งผลกระทบในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือบางส่วนไปจนถึงประเทศลาว ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นพื้นที่เกษตรที่สำคัญของไทย” นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนความน่ากังวลอีกอย่างคือ ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดในภาคเหนือ ส่วนหนึ่งเกิดจากความแห้งแล้ง ซึ่งเมื่อเป็นเอลนิโญแล้ว เกิดความแล้งมากขึ้น ก็ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ง่าย และยังมีปริมาณน้ำฝนที่น้อยซ้ำเติมเข้าไปอีก ตนจึงคาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นพิษในปีหน้าจะมีความรุนแรงมากกว่าปีนี้อย่างมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image