จิตแพทย์ชี้คนไทยเครียดจากข่าวการเมือง เตือนสติติดตามพอสมควร สำรวจตัวเอง

จิตแพทย์ชี้คนไทยเครียดจากข่าวการเมือง เตือนสติติดตามพอสมควร สำรวจตัวเอง

เมื่อวันนี้ 19 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรม ปรินซ์ พาเลซ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเครียดในสังคมไทยช่วงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า กรมสุขภาพจิตได้ติดตามอุณหภูมิความเครียดของคนไทยอยู่ตลอด

“เมื่อไรก็ตามที่มีสัญญาณเขย่าบางอย่าง กรมสุขภาพจิตก็จะออกมาบอกเล่าตัวเลขเหล่านั้น ซึ่งสถานการณ์ระยะนี้มีแนวโน้มความเครียดที่ยังไม่ลดลง ยังไต่ระดับขึ้นช้าๆ อยู่ในระดับที่ยังวางใจไม่ได้ ยังคงต้องเฝ้าระวังกันใกล้ชิด เรื่องความเครียดของประชาชนเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน มีการสัมภาษณ์จิตแพทย์เกือบทุกวัน ว่าเราจะดูแลกันอย่างไร ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กว่าจะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเรื่องนี้เป็นที่สนใจของประชาชน ทั้งนี้ ความสนใจเรื่องการเมือง เป็นเรื่องดีที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของประชาชนเกือบทุกคนอย่างแท้จริง เป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่หลายเรื่องไม่สามารถเป็นดั่งใจเราคิดได้ทั้งหมด และ นี่คือ วิถีของประชาธิปไตย ในมิติความเครียด กรมสุขภาพจิตจะออกมาให้ข้อมูลเสมอว่า การติดตามข่าวสารอย่างมีสติ สามารถทำได้อย่างไร และมีข้อแนะนำสำหรับประเมินตนเองว่าเราไม่พร้อมรับข้อมูลแล้ว ควรถอยตัวเองออกมาจากการรับรู้ หรือควรปรึกษาหารือเพื่อรักษา” พญ.อัมพรกล่าว

Advertisement

พญ.อัมพรกล่าวถึงการดูแลตนเองรับมือกับความเครียดทางการเมือง ว่า ต้องมี 1.สำรวจสติ รู้ตัวว่าตัวเราเป็นอย่างไร หากเรายังสบายดี ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ไม่บกพร่องในการงาน

2.สำรวจสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง เช่น ไม่มีเรื่องทะเลาะกับใคร เพราะความเครียดการเมือง เมื่อไปเจอกับเรื่องอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดการทะเลาะกับคนรอบข้างได้

และ 3.สำรวจตัวเองว่าเรายังกินอาหารได้ปกติ มีอารมณ์เบิกบานในการทำสิ่งต่างๆ หรือไม่

Advertisement

“สามารถเข้าไปสำรวจความเครียดได้ที่ Mental health check in ในเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต เพื่อประเมินความเครียด ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ การจัดสรรเวลาในการรับรู้ข่าวสารแต่พอสมควรกับตัวเองเป็นเรื่องจำเป็น เพราะบางคนติดตามข่าวสารวันละ 4-5 ชั่วโมง แต่ยังยิ้ม ทำงานได้ แต่บางคนฟัง 1 ชั่วโมง ก็ไม่ไหวแล้ว ชวนทะเลาะแล้ว ดังนั้น เราต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ส่วนการเลือกปรึกษาคนใกล้ชิด เราต้องเลือกคนที่มีวุฒิภาวะ ปรึกษาได้ ไม่ใช่กลายมาเป็นคู่ทะเลาะกัน หรืออาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้ความเครียด ผลักเราไปสู่การใช้สารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ สารเสพติดชนิดอื่นๆ เพราะจะทำให้ปัญหาที่มีแล้วหนักขึ้นกว่าเดิม” พญ.อัมพรกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image