กรมการจัดหางาน จี้แรงงานต่างด้าวตามมติ ครม.30 พ.ค.66 ส่งเอกสารภายใน 31 ก.ค.66

กรมการจัดหางาน จี้แรงงานต่างด้าวตามมติ ครม.30 พ.ค.66 ส่งเอกสารภายใน 31 ก.ค.66

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2566) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบให้คนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เอกสารประจำตัวและหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่ครบถ้วน สามารถอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อดำเนินการเตรียมเอกสารและหลักฐานมายื่นให้กกจ.ภาย ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทยให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและบริการของประเทศ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมาย

“โดยคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา สามารถรับบริการจัดทำเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Certificate of Identity : CI) ได้จากหน่วยบริการเคลื่อนที่เมียนมา (โมบายทีม) ใน จ.สมุทรสาคร จ.นนทบุรี และ จ.สุราษฎร์ธานี และชำระเงินค่าจัดทำ CI ได้ที่ Counter Service ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และสัญชาติลาว สามารถกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางได้ที่ประเทศต้นทาง โดยขอรับเอกสารเพื่อการเดินทางกลับประเทศได้ที่สถานทูตกัมพูชา และสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เมื่อคนต่างด้าวได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566” นายไพโรจน์ กล่าว

อธิบดี กกจ. กล่าวว่า ขอให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ยื่นเอกสารหลักหลักฐาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานภายในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก ซึ่ง กกจ.จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งนายจ้างคนไทยและลูกจ้างคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้างซึ่งรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ โดยหากมีข้อขัดข้องให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image