ชัชชาติ ขอความร่วมมือ ‘กรมทางหลวง’ เข้มงวดก่อสร้างขวางระบายน้ำ – รับต้องปรับปรุงเรื่องดูแล ปชช.

ชัชชาติ ขอความร่วมมือ ‘กรมทางหลวง’ เข้มงวดก่อสร้างถนนทุกสาย ขวางระบายน้ำ รับต้องปรับปรุงเรื่องดูแล ปชช.ตอนน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการดูแลสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเหตุการณ์รถยนต์ตกคูน้ำที่กำลังมีการก่อสร้างเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา

นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องเรียนว่าถนนในกรุงเทพฯ หลายสายอยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง เช่น แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สุวินทวงศ์ วิภาวดีรังสิต พระราม 2 กรณีถนนวิภาวดีกำลังมีการก่อสร้างคูน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมขังในระดับเดียวกับคูน้ำที่กำลังก่อสร้าง ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าตรงไหนเป็นคูน้ำ ตรงไหนเป็นถนน จากการไปดูจุดเกิดเหตุที่ซอยวิภาวดี 28 พบว่าเป็นจุดเลี้ยวไม่มีแบริเออร์ (barrier) กั้นบอกแนว เมื่อน้ำท่วมเสมอกันทำให้คนขับรถมองไม่เห็นแนวคูน้ำ จึงต้องกำชับให้ดูทุกจุดทั้งสองฝั่งตั้งแต่ลาดพร้าวไปถึงดินแดง มีหลายจุดที่เป็นพื้นที่เอกชน เป็นทางเข้าบริษัทต่างๆ ไม่มีแบริเออร์ ได้แจ้งให้ผู้รับเหมามาดำเนินการติดตั้งโดยขออนุญาตเอกชนก่อนเพราะเป็นถนนส่วนบุคคล เน้นจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมมากและสังเกตได้ยากหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งมีการติดไฟแจ้งเตือนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยต้องมีค่าใช้จ่ายแต่จะรวมในค่าก่อสร้างอยู่แล้ว จึงต้องขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร

Advertisement

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า กทม.ได้ประสานงานกับกรมทางหลวงมาตลอดในเรื่องความปลอดภัยและเร่งรัดการก่อสร้าง และเข้มงวดเรื่องการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อการจราจร และการระบายน้ำ ซึ่งมีการพูดคุยกำชับกันมาตลอดในเส้นทางวิภาวดี ว่าระหว่างการก่อสร้างที่มีการบล็อกน้ำ ผู้รับเหมาจะต้องมีการบายพาสโดยการใช้เครื่องสูบน้ำช่วย ขณะเดียวกันจะต้องดูกองวัสดุก่อสร้างไม่ให้กองริมทาง เนื่องจากเมื่อฝนตก น้ำจะชะเอากองวัสดุลงไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลได้ช้า จึงต้องย้ำนโยบายคือไม่ให้กองวัสดุในพื้นที่สาธารณะ ต้องมีที่เก็บต่างหาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีอย่างเมื่อวันคืนวันเสาร์ที่น้ำระบายได้ช้า เนื่องจากเศษหินดินทรายที่ไปอุดตัน

นายชัชชาติกล่าวเสริมว่า บางทีเรารู้สึกว่าถนนกรมทางหลวงเหมือนอยู่นอกความรับผิดชอบของ กทม. แต่เราก็เหมือนเป็นเจ้าของบ้านที่ต้องทำหน้าที่เป็นคนตรวจให้กับประชาชน

Advertisement

“เพราะจริงๆ แล้ว กทม.ต้องดูทุกพื้นที่อยู่แล้ว สำนักการโยธา และฝ่ายโยธาเขตต่างๆ คงต้องทำหน้าที่เชิงรุกให้มากขึ้น อาจจะมีคนหาว่าล้อมคอก แต่ก็ต้องพยายามทำเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น”

“เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทุกคนก็ทำเต็มที่ อย่างวันที่ฝนตกเมื่อคืนวันศุกร์เช้าวันเสาร์ ได้เข้าไปที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ เมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ก็เจอผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำประจำอยู่ที่ศูนย์ฯแล้ว แต่ยังมีมิติหนึ่งที่เรายังต้องปรับปรุงคือการดูแลประชาชนในช่วงเวลาที่มีฝนตกน้ำท่วมกลางคืน ก็ได้สั่งการหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการระบายน้ำ ต้องออกมาดูแลประชาชนด้วย เช่น เทศกิจที่คอยดูแลการจราจร กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งมีหน่วยซ่อมรถ ต้องออกมาประจำจุดที่น้ำท่วมหนัก ดูแลรถเสีย หรือรถเทศกิจ รถกระบะที่ใช้รับคน ต้องออกมาดูแล เพราะประชาชนหลายคนยังกลับบ้านไม่ได้ อาจจะไม่มีรถแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องออกมาเสริมตรงนี้ด้วย เพื่อให้ประชาชนกลับบ้านให้ได้” นายชัชชาติกล่าว และว่า

ทั้งนี้ ในวันเสาร์ช่วงเช้าก็ได้มีรถเทศกิจออกบริการตามถนนรัชดาฯ และตามซอยต่างๆ ที่น้ำท่วมขัง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ย้ำทุกหน่วยงานไป

ส่วนสภาพฝนช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะว่ามีร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ และเป็นฝนที่เคลื่อนตัวช้า ต่างจากฝนที่มาจากมรสุมที่ผ่านไปเร็วตามลมพัด จะเห็นว่าอย่างเมื่อคืนวันศุกร์ผ่านมาฝนตกแช่ในพื้นที่นาน ทำให้บางจุดมีปริมาณฝนถึง 138 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าสูงมาก แถวลาดกระบังสูงถึง 100 มิลลิเมตร ในช่วง 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในการจัดการถือว่าทำได้ดีเพราะน้ำลงค่อนข้างเร็ว ซึ่ง กทม.ทำงานหนักทุกคน แต่ตอนนี้อาจจะมีติดอยู่ในชุมชนย่อยๆ และต้องระวังฝนต่อไป ข้อดีอย่างหนึ่งคือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่สูงมาก

นายชัชชาติชี้ว่า ส่วนอีกปัญหาหนึ่งของการเกิดน้ำท่วมคือขยะอุดตัน จากการได้พูดคุยกับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หน้างาน รถขยะ กทม.จะเก็บขยะประมาณ ตี 1 หากมีฝนตกก่อนเวลาที่รถจะมาเก็บ จะทำให้ขยะที่วางรอไว้โดนฝนชะไปกีดขวางการระบายน้ำ

“ช่วงหน้าฝนนี้จึงต้องช่วยกันดูแลและขอความร่วมมือประชาชน พยายามนำขยะไว้ในบ้านก่อน จนใกล้ๆ ถึงเวลาจัดเก็บแล้วจึงน้ำมาวางไว้ที่จุดรวม ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้จัดทำคอกเขียวเป็นที่รวบรวมขยะก่อนเจ้าหน้าที่จะมาเก็บ แต่ยังไม่เพียงพอ จึงมีถังขยะไปเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ใบ ตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image