กรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ มหิดล พัฒนาสมุนไพร-พืชเสพติด ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ มหิดล พัฒนาสมุนไพร-พืชเสพติด ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยเรื่อง “การพัฒนาพืชสมุนไพร และพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ระหว่าง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ และ ภญ.ศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์ฯ กับ รศ.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ และ ผศ.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานสังกัด สธ. มีบทบาทหน้าที่หลักเกี่ยวกับการวิจัยและการตรวจชันสูตรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนและสนับสนุน การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ทั้งด้านสมุนไพรและพืชเสพติด กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการอย่างครบวงจร เช่น การปลูกและอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพร การจัดจำแนกพันธุ์พืช การศึกษาวิจัยระยะพรีคลินิก และการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมี นย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยรวม 15 ศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับพืชสมุนไพรที่มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชสมุนไพรกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่มีคุณค่าทางด้านการแพทย์ และเศรษฐกิจอีกด้วย

Advertisement

“ในการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เล็งเห็นความสำคัญของพืชสมุนไพรและพืชเสพติด ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตได้ ซึ่งพืชที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมพัฒนาในการศึกษาวิจัย คือ พริกไทย และกระวาน พืชสมุนไพรมีแนวแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น และรวมถึงเป็นองค์ประกอบในการทำยารักษาโรคของยาตำรับแผนไทยหลายขนาด นอกจากนี้ จะร่วมในการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาทั้งโรคที่ติดเชื้อและ ไม่ติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน และนำไปสู่การศึกษา การพัฒนาพืชสมุนไพร ให้ได้มาซึ่งสารสำคัญเพื่อนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image