รพ.ศิริราช ถอดบทเรียนญี่ปุ่นสร้างสังคม “คนสูงวัย” กระทุ้งรัฐไทยต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ชี้ต้องร่วมทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นำโดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับสถาบันเวชศาสตร์และพฤฒิวิทยาผู้สูงอายุแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น (National Center for Geriatrics and Gerontology -NCGG , Japan) เป็นการขยายความร่วมมือต่อเนื่องหลังจากครบ 3 ปีที่ได้มีความร่วมมือด้วยกันมา พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเดินทางดูงานที่สถาบันผู้สูงอายุโตเกียว เมโทรโพลิแทน (Tokyo Metropolitan Institute of Gerontology, Japan) และโรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุอีกหลายแห่ง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาก่อนกว่า 20 ปี มีการวางระบบการดูแลแบบบูรณาการที่ครบวงจร การเดินทางไปครั้งนี้ได้เชิญ น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ผู้บริหารกรมการแพทย์ ผู้บริหารสภาหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ร่วมคณะไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้วย เพื่อนำกลับมาปรับใช้ในการวางระบบการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย และนำไปสู่การจัดทำโครงการร่วมกันทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้เป็นสังคมอายุยืนสุขภาพดีของประเทศไทยศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.ศิริราช ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนโครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งศูนย์ แห่งนี้เป็นสถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะกลาง ที่พ้นจากภาวะป่วยวิกฤตก่อนออกไปดูแลที่บ้าน ศูนย์ได้วางระบบประสานเชื่อมโยงกับชุมชนรอบด้าน นอกจากนี้ยังมีระบบการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและการดูแลต่อเนื่อง เช่น การทำกายภาพบำบัด การทำเดย์แคร์เซ็นเตอร์ การจัดกิจกรรมต่างๆ รองรับ รวมถึงการทำเวลล์เนสผู้สูงอายุ

“จุดเด่นการดูแลผู้สูงอายุของญี่ปุ่นเป็นระบบที่มีการดูแลสุขภาพหลากหลายตอบโจทย์ผู้สูงอายุแต่ละรายที่มีความต้องการไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการดูแลที่หลากหลายจะมีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน โดยที่ภาครัฐเป็นผู้วางระบบกระจายคนไข้ไปสู่สถานบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ญี่ปุ่นจะพยายามให้คนไข้สูงอายุได้รับการดูแลโดยครอบครัวหรือชุมชนตนเองเรียกว่า Aging in Place และมีระบบที่เข้าไปสนับสนุนให้ใช้ชีวิตเองที่บ้านได้ ขณะที่บางกิจกรรมที่ทำเองไม่ได้ก็มีระบบเข้าไปเยี่ยมบ้านหรือมีระบบนำคนไข้มาฟื้นฟูที่สถานพยาบาลในชุมชน จนกระทั่งถึงระยะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้วจึงจะนำมาอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุแต่ละคนจะดูแลไม่เท่ากัน เพราะความสามารถ ความต้องการและสภาพความพึ่งพิงแต่ละคนไม่เท่ากัน ญี่ปุ่นจึงจัดระบบจัดสถานบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สถานบริการเหล่านั้นจะมีมาตรฐานเดียวกัน ขณะเดียวกัน อปท. มีส่วนสำคัญในการจัดคนตามความต้องการในการรับบริการ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกองทุนการดูแลระยะยาว (Long–term care) เป็นระบบร่วมจ่ายที่ดูแลเมื่อสูงอายุ นอกเหนือจากกองทุนรักษาพยาบาล ซึ่งดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว โดยการจัดเก็บรายได้จากผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อถึงเกณฑ์สูงอายุกองทุนนี้จะเข้ามาดูแลช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามความต้องการ โดยที่รัฐช่วยสนับสนุนส่วนหนึ่ง เป็นระบบกลางที่รัฐกำหนดให้ดำเนินการ แต่ที่สำคัญ อปท. แต่ละแห่งสามารถจะพัฒนาระบบเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นพื้นที่ไหนมีระบบ Long–term care ที่ดีก็จะมีคนย้ายถิ่นเข้าไปอยู่มากขึ้น เป็นระบบที่คนยอมจ่ายเพื่อสร้างสวัสดิการที่ดีขึ้นรองรับอนาคต

เมื่อถามว่าประเทศไทยช้าไปหรือไม่กับการวางระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรช้าไปกว่าการที่จะต้องทำ หากไม่เริ่มต้นก็จะยิ่งช้า ปัญหาของไทยในการดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านมายังเป็นระบบแยกส่วน ต่างคนต่างมองและต่างทำ เข้าใจว่าทุกคนหวังดี แต่จำเป็นต้องมาร่วมกันวางระบบรองรับ การเรียนรู้จากต่างประเทศเป็นอีกแนวทางที่จะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อยากเชิญชวนให้ร่วมคิดร่วมพัฒนาระบบกลางรองรับการดูแลสังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาหลายแห่งมีต้นแบบมีตัวอย่างที่ดีแต่เป็นบริบทที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ต้องร่วมกันจัดทำแผน แบ่งประเภทและระดับความต้องการของแต่ละบุคคล และวางระบบรองรับ หน่วยงานหลักที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ที่รัฐบาลมอบหมายคือ พม. ซึ่งศิริราชก็พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนในการวางระบบ “ที่ผ่านมา สธ.มุ่งเน้นเรื่องการรักษาพยาบาล กรมกิจการผู้สูงอายุก็จะมองแต่เรื่องสวัสดิการการฟื้นฟู แต่เรื่องทางสังคมเป็นอีกเรื่องใหญ่มากที่ต้องดูแลทั้งระบบ รวมถึงการกระจายการลงทุน หากรัฐทำทุกอย่างก็ไม่ไหว จึงต้องมีกลไกให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเดียวกัน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องสังคมผู้สูงอายุมากกว่านี้ เพราะถ้าผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยประเทศก็จะป่วย ถ้าผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงก็สามารถนำประสบการณ์องค์ความรู้ที่สะสมมาทั้งชีวิตมาช่วยทำให้เกิดผลประโยชน์ ประเทศก็จะแข็งแรง คนสูงอายุ 60-70 ปียังทำงานได้ก็ต้องนำกลับมาทำงาน” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผู้ที่มีรายได้สูงช่วยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเดือดร้อนเพื่อตัดรายจ่ายสร้างความยั่งยืนทางการคลังนั้น ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะช่วยอย่างไรก็ช่วยไป แต่ทำอย่างไรที่จะจัดสรรงบประมาณบางส่วนนำมาบริหารจัดระบบสวัสดิการสังคมรองรับเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เช่น ค่าซ่อมบ้าน ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องไปอยู่เนิร์สซิ่งโฮม ค่ากายภาพบำบัด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางระบบรองรับรอบด้าน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image