“หมอยง”เผยไทยพบฝีดาษลิงแล้วกว่า 120 ราย สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้อัตราตายต่ำทำคุมโรคยาก

“หมอยง”เผยไทยพบฝีดาษลิงแล้วกว่า 120 ราย สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้อัตราตายต่ำทำคุมโรคยาก
วันนี้ (2 สิงหาคม 2566) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊กอัพเดตสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ว่า โรคฝีดาษวานร หรือ Mpox ล่าสุด องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อใหม่ เป็น Mpox เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียกฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การระบาดทั่วโลกของฝีดาษ Mpox รวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน ที่มีเทศกาล อย่างไรก็ตาม โรคไม่รุนแรง จึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย” ศ.นพ.ยง ระบุ
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรงจะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และมีวัคซีนป้องกันได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยากจนกว่า ในอนาคต โรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับการสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า
“ประเทศไทยที่พบกว่า 100 ราย ก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัวของโรคนี้ในปัจจุบันน้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย” ศ.นพ.ยง ระบุ
วันเดียวกัน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มีรายงานในระบบโรงพยาบาล ยืนยันพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งสิ้น 153 ราย แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ยอดสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 170 ราย แล้ว โดยร้อยละ 90 เป็นคนไทย และร้อยละ 10 เป็นชาวต่างชาติ
“โดยสาเหตุการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะลักษณะอาการที่ลำตัวมีตุ่มหนอง แต่หลายคนก็ยังใกล้ชิดกันอยู่ เพราะอาการไม่รุนแรง เพียง 2 สัปดาห์ อาการตุ่มหนองค่อยๆ หายไป ทำให้คนที่มีอาการไม่ไปพบแพทย์ ดังนั้น เราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตัวเลขที่แท้จริงเป็นอย่างไร จะรู้เพียงแค่แนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าช่วงไหนเพิ่มขึ้น ก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตัว” นพ.จักรรัฐ กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image