สคทช.-วช.ยกระดับงานวิจัย นวัตกรรม บริหารจัดการที่ดินทรัพยากรดิน ภายใต้ BCG MODEL

สคทช.-วช . ยกระดับ งานวิจัย-นวัตกรรม บริหารจัดการที่ดินทรัพยากรดิน ภายใต้ BCG MODEL

วันที่ 9 สิงหาคม ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และนักวิจัย ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่ง  ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นายสมปรารถนา สุขทวี และนายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.รวีวรรณ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันส่งเสริม พัฒนา ผลักดัน และต่อยอดงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตลอดจนภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องของ สคทช. และนำไปสู่การขยายผลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ นอกจากนั้น ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักวิจัย และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านการวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอีกด้วย

Advertisement

“สคทช. และ วช. เห็นพ้องว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาการกำหนดนโยบาย แผน มาตรการ และพัฒนากฎหมายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เอกภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน โดย สคทช. ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายและกฎหมายบนฐานความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based policy making) ที่มีข้อมูล ผลการศึกษาวิจัย หรือมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ทำให้มีการนำงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก วช. มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และยังจะเป็นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล ในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ที่ สคทช. ดำเนินงานอยู่”ดร.รวีวรรณ กล่าว

ผู้อำนวยการ สคทช. กล่าวว่า โดยเฉพาะในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ ความรู้เกี่ยวกับเกษตรแม่นยำ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ มาดำเนินการในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน บนพื้นฐานความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image