นักดาราศาสตร์ไทย โชว์งานวิจัย “โอกาสที่โลกจะถูกค้นพบโดยอารยธรรมต่างดาว” งานเสวนานักดาราศาสตร์ทั่วโลก

นักดาราศาสตร์ไทย โชว์งานวิจัย โอกาสที่โลกจะถูกค้นพบโดยอารยธรรมต่างดาว ในงานเสวนานักดาราศาสตร์ทั่วโลก ประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 11 สิงหาคม เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT รายงาน การประชุม APRIM (Asia-Pacific Regional IAU Meeting) เป็นการประชุมสามัญของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ในระดับท้องถิ่นประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 สำหรับปีนี้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม ค.ศ. 2023 ณ เมืองโคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

การประชุมนี้มีนักดาราศาสตร์นานาชาติ จากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมแลกเปลี่ยน และเสวนาทางวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดทั้งที่เพิ่งตีพิมพ์ และกำลังรอการตีพิมพ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในระดับสากล

Advertisement

สำหรับงาน APRIM 2023 ในส่วน plenary speaker นั้น มีการนำเสนองานวิจัยแนวหน้าที่สำคัญทางดาราศาสตร์มากมาย เช่น ผลการวิจัยล่าสุดที่ได้จากกล้องศึกษาดวงอาทิตย์ Daniel K Inouye Solar Telescope ผลลัพธ์จากการศึกษาจักรวาลวิทยาเชิงสังเกตการณ์เป็นเวลา 3 ปี ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Subaru Hyper Suprime-Cam การค้นวัตถุแผ่คลื่นวิทยุคาบยาวชนิดใหม่ที่ฉีกความเข้าใจปัจจุบันเกี่ยวกับแมกนีทาร์ พรมแดนใหม่ของการศึกษาฝุ่นในดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และชั้นโคโรนารอบบรรยากาศของดาวเคราะห์ทั้งในและนอกระบบสุริยะ

นอกจากนี้ ภายในงานยังเต็มไปด้วยนักดาราศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก ที่มาเผยแพร่ความก้าวหน้าล่าสุดในวงการดาราศาสตร์หลายสาขา ตั้งแต่ดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ วิวัฒนาการดาวฤกษ์ มวลสารระหว่างดวงดาว วัตถุอัดแน่น กาแล็กซีและต้นกำเนิดของกาแล็กซี ดาราศาสตร์พหุพาหะ กล้องโทรทรรศน์บนโลกและนอกโลก การสื่อสารวิทยาศาสตร์ สารสนเทศดาราศาสตร์ในยุค Big Data ฯลฯ รวมถึงความคืบหน้าในโครงการสำคัญ อาทิ ระบบ Adaptive Optics ใหม่ของกล้องโทรทรรศน์ Subaru ความคืบหน้าการก่อสร้าง Thirty Meter Telescope (TMT) และชาวพื้นเมืองฮาวายกับยอดเขาโมนาเคียบนเกาะฮาวาย ฯลฯ

Advertisement

สำหรับประเทศไทย เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดโดยนักวิจัย NARIT และนักวิจัยไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาเอกจากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ

– การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ในระบบดาวเคราะห์คู่รอบดาว RR Cae ด้วยกล้องโทรทรรศน์ระยะไกลอัตโนมัติของ NARIT
– การปลดปล่อยมวลของ W49 N
– การสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาจานพอกพูนมวลรอบดาว T Tauri
– การศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบ HAT-P 26b
– การศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสว่างของแก่นดาราจักรกัมมันต์
– การหาสสารมืดจากเลนส์ความโน้มถ่วงชนิดอ่อนโดยข้อมูลของ Dark Energy Survey
– สิ่งที่ได้จากการสังเกตการณ์เพื่อตามหาต้นกำเนิดของการชนกันของวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วง
– การพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบใหม่ของโคโรนากราฟ ที่ใช้เทคนิค Evanescent Wave Coronagraph
– การใช้ Machine Learning ในการค้นหากระจุกดาวทรงกลมในกาแล็กซีใกล้เคียง
– โอกาสที่โลกจะถูกค้นพบโดยอารยธรรมต่างดาวโดยวิธี microlensing
– การศึกษากาแล็กซี MRK-59 ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดคล้ายดาวหาง
– ลักษณะทางกายภาพของเมฆโมเลกุลในบริเวณใจกลางของกาแล็กซี M83

นอกจากนี้ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้รับเชิญเข้าร่วมนำเสนอในหัวข้อ “Present, Future Research and Technological Advancement Endeavours in Thailand” นำเสนอแนวทางและความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อก้าวสู่ระดับโลก

พร้อมกันนี้ ดร. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา NARIT ได้ร่วมนำเสนอบทบาทของ NARIT หนึ่งในแกนนำสำคัญของ SEAAN (Southeast Asia Astronomy Network) ในการผลักดันให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเข้าใจระหว่างนักวิจัย อันนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างประเทศ เพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาลที่มนุษย์มีอยู่เท่านั้น แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เวทีนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างวิจัยพื้นฐาน ที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อน และยกระดับประเทศไทยให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำในวงการงานวิจัยระดับโลกได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image