ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย “เบี้ยชรา” แบบยืนยันความจน ชี้ควรถ้วนหน้าเท่าเทียม

ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย “เบี้ยชรา” แบบยืนยันความจน ชี้ควรถ้วนหน้าเท่าเทียม

ความคืบหน้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกรณีการปรับหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยชราภาพใหม่ ที่มีสาระสำคัญต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งเป็นการยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า ที่ประเทศไทยดำเนินการมากว่า 14 ปี

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม น.ส.อรุณี ศรีโต ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การต้องพิสูจน์ความจนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเรื่องสวัสดิการที่ต้องถ้วนหน้า

“นอกจากว่า คนที่มั่งมีศรีสุขเขาไม่เอา เขาก็แจ้งความจำนงว่า ไม่เอา ไม่ใช่ว่ารัฐจะมาทำให้เป็นเหมือนบัตรคนจนที่ต้องมีการพิสูจน์ความจนก่อน เรื่องนี้ ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูล ไม่มีการสอบถามความเห็นจากประชาชนในวงกว้าง เรามองว่าเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเรื่องสิทธิของคนไทยทุกคน เรียกภาษาเท่ๆ คือ บำนาญภาคประชาชน ไม่ใช่ว่าจะต้องมาเลือกว่าจนเท่าไร จะต้องมีรายได้ไม่เกินเท่าไร อย่างนี้มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่เห็นด้วยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ละพรรคการเมือง ต่างก็หาเสียงว่าจะมีการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ ผลักดันให้มีบำนาญประชาชน จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทบทวนเรื่องนี้” น.ส.อรุณี กล่าวและว่า รัฐกำลังเลือกปฏิบัติ เพราะบำนาญข้าราชการเป็นสิทธิถ้วนหน้า ไม่ว่าจะรวยเป็น 100-200 ล้านบาท ก็ได้บำนาญเหมือนกัน

Advertisement

น.ส.อรุณี กล่าวว่า การที่ภาครัฐอ้างว่าผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพก่อนระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ยังใช้เกณฑ์เดิมในการพิจารณาและได้รับเงินตามเดิมนั้น มองว่า ยิ่งเป็นการแบ่งแยกคน แสดงถึงเจตจำนงที่ไม่ถูกต้อง

ด้าน นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจว่าการออกหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุฉบับใหม่ เป็นผลต่อเนื่องจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

“ในระยะสั้นคิดว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหา เพราะถ้าดูในบทเฉพาะกาลที่ระบุไว้ 2 ข้อ คือ 1.ระบุว่าคนที่เคยได้รับเบี้ยผู้สูงอายุไม่ต้องถูกทวงเงินคืน 2.ตราบใดก็ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ ก็ให้ใช้คุณสมบัติเดิมไปก่อน อย่างไรก็ตาม ยังยืนในหลักการว่าต้องเป็นระบบถ้วนหน้า เพราะประเทศไทยต้องรับหลักการที่บอกว่าผู้สูงอายุต้องมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ดังนั้น ตราบใดที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่ตัดสินใจ ก็ต้องให้ผู้สูงทุกคนไปก่อน ส่วนในระยะเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าทุกคนยังมีสิทธิอยู่” นพ.ถาวร กล่าวและว่า ขณะนี้กำลังมีปัญหาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพข้ามเขตพื้นที่ไม่ได้ ส่วนเด็กเจอปัญหาในเรื่องศูนย์เด็กเล็กข้ามเขตไม่ได้ ดังนั้น เรื่องการใช้สิทธิข้ามเขตนี้เป็นเรื่องน่ากังวล

Advertisement

นพ.ถาวร กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีผู้สูงอายุตกหล่นและเข้าไม่ถึงสิทธิ ว่า หลักการคือ ทุกคนต้องไปขึ้นทะเบียนยืนยันสิทธิจึงจะได้เงิน ดังนั้น ต้องมีวิธีการที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนด้วย เพราะบางคนอาจไม่สะดวกเดินทาง จึงต้องทำให้ง่ายและสะดวก และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะรณรงค์ให้คนที่ไม่ต้องการใช้สิทธิไปสละสิทธิ เพราะถือเป็นสิทธิของทุกคน เป็นสิทธิเป็นเรื่องที่ติดตัวคน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อปรับลดรายจ่ายงบประมาณที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐ และการที่บำนาญประชาชนไม่ขยับ เป็นเพราะเจ้าภาพของเรื่องนี้คือ ข้าราชการที่มีเงินบำนาญ ไม่เดือดร้อน นพ.ถาวร กล่าวว่า คงมีส่วน เพราะคนที่ไม่เดือดร้อนจะไม่ดิ้นรน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทำฝ่ายการเมืองเห็นด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image