มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้หน่วยงานภาครัฐกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่เอาเปรียบประชาชน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้หน่วยงานภาครัฐกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่เอาเปรียบประชาชน

วันนี้ (18 สิงหาคม 2566 ) นายธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในปัจจุบันที่พบว่ามีหลายด้าน ทั้งในด้านบริการเสริมความงาม บริการฟิตเนส บริการจัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้งและจองที่พัก บริการสายการบิน บริการทัวร์ เป็นต้น ซึ่งถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหลากหลายรูปแบบ มีพฤติการณ์ที่เห็นชัดเจน ได้แก่ การเรียกเก็บเงินล่วงหน้า แต่สินค้าและบริการกลับไม่ตรงตามที่โฆษณา ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริโภคผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังพบปัญหาใบเสร็จรับเงินไม่แจ้งรายละเอียดของสินค้าและบริการ ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงของแต่ละรายการที่จ่ายเงิน กลายเป็นข้อเสียเปรียบ ที่จะเอาไปเปรียบเทียบราคากับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 อนุ 2 ที่ระบุว่า สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและหรือ บริการ ส่วนนี้ เป็น บริการเสริมความงาม และฟิตเนส

นายธนัช กล่าวว่า ส่วนกรณีการจัดคอนเสิร์ต แฟน มีตติ้ง จองที่พัก มีพฤติการณ์ของผู้ประกอบการที่เห็นชัดเจนในการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งการขายตั๋วทิพย์  การเปลี่ยนรายละเอียดหลังการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจก่อนใช้บริการ หรือ แม้แต่การเอาเปรียบ กรณียกเลิกคอนเสิร์ต กลับคืนแค่ค่าตั๋ว แต่ไม่ยอมคืนค่าธรรมเนียมโดยไม่ยอมแจ้งเหตุผล ทั้งบริการไม่มีเกิดขึ้นต้องคืนเงินทั้งหมด ขณะที่ประเด็นสายการบิน บริการทัวร์ มีพฤติการณ์ของผู้ประกอบการยกเลิกเที่ยวบินหรือทัวร์ แม้แจ้งล่วงหน้า ตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ทั้งเรื่องราคาที่อาจต้องซื้อแพงขึ้น และก่อปัญหาด้านธุรกิจ จากพฤติการณ์ของผู้ประกอบการข้างต้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ใช้ “กลฉ้อฉล” เพื่อหลอกลวงผู้บริโภค เนื่องจากภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และที่สำคัญ ไม่ใช้มาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลผู้ประกอบการอย่างเข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปิดช่องโหว่ที่เปิดทางให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค ที่สำคัญ ยังมีธุรกิจบางประเภท เช่นบริการจัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง ที่ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ จึงจะต้องออกกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน เป็นการเร่งด่วน เพราะราคาบัตรเข้าชมงานประเภทนี้มักมีราคาสูง และในปีหนึ่งๆ มีการจัดงานหลายครั้ง แต่ละงานมีผู้ชมจำนวนมาก หากเกิดความเสียหายจึงทำให้มีมูลค่าสูง” นายธนัช กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image