เครือข่ายชาติพันธุ์ เดินหน้าขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพระดับอำเภอ
วันนี้ (18 สิงหาคม 2566) น.ส.กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงาน ว่า สำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) เครือข่ายชาติพันธุ์ จะเน้นการทำงานเพื่อการเข้าถึงและคุ้มครองสิทธิกับชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีพื้นที่การทำงานใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ค่อนข้างมีความหลากหลาย ทั้งเรื่องสิทธิสถานะ การเข้าถึงบริการและการคุ้มครองสิทธิ หรือแม้แต่ด้านการสื่อสารที่บางส่วนไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ การทำงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ จึงมีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยในส่วนของเชิงรุกจะร่วมมือกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านสิทธิ รวมทั้งลงพื้นที่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการเข้าถึงสิทธิเป็นภาษาชนเผ่า ส่วนเชิงรับนั้น จะเน้นการประชาสัมพันธ์ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อสนับสนุนหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง รวมทั้งการประสานงานขอความช่วยเหลือเป็นรายกรณีไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลหรือการรับเรื่องร้องเรียน
น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมีประสิทธิภาพมากขึ้น ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ ยังได้ริเริ่มขยายเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในระดับอำเภอ โดยเน้นไปในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นประชากรหลัก โดยได้เริ่มดำเนินการมา 3 ปี ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานฯ ที่เป็นรูปร่างและดำเนินการด้วยตัวเองได้แล้วในพื้นที่ 6 อำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้งได้มีการศูนย์ประสานงานในระดับจังหวัดอีก 4 จังหวัด โดยศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประสานงานและช่วยเหลือในประเด็นที่ได้รับการร้องขอมา
“เครือข่ายศูนย์ประสานงานฯ ในระดับอำเภอ จะมีโครงสร้างเป็นผู้นำชุมชนหรือเครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนแล้วส่งมาที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง โดยเราทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและติดตามคำร้องเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการในระดับจังหวัด แต่ปัจจุบัน ยังมีเครือข่ายไม่ครอบคลุมทุกอำเภอ เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร เราจึงใช้ศักยภาพของเครือข่ายภาคประชาชนเป็นหลัก และนอกจากปัญหาเรื่องงบประมาณ อุปสรรคอีกอย่างคือเรื่องศักยภาพของแกนนำในระดับอำเภอที่ต้องพิจารณาความสามารถในการให้ข้อมูล ความสามารถในการประสานงานหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ความร่วมมือในพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นต้น” น.ส.กิ่งแก้ว กล่าว
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในอนาคตนั้น น.ส.กิ่งแก้ว กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ จะเน้นเรื่องการเชื่อมการทำงานกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการทำงานให้ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอื่นๆ ด้วย เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันตก ขณะเดียวกัน ในส่วนของการขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในระดับอำเภอ ก็ต้องการขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ใน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่มีศูนย์ประสานงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ศูนย์ประสานงานฯเหล่านี้ยกระดับเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองระดับอำเภอในอนาคต
“นอกจากนี้ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เครือข่ายชาติพันธุ์ จะยังขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและการพิสูจน์สถานะต่อไป เพราะถ้าจะเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้จะต้องมีการกำหนดเลข 13 หลักก่อนเพื่อจำแนกว่าจะได้สิทธิการรักษาแบบไหน ซึ่งก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระดับอำเภอให้สามารถช่วยเหลือประสานงานได้เมื่อมีประชาชนวอล์กอิน (walk in) เข้าขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลให้ได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิการรักษาอะไรบ้าง ช่องทางการเข้าถึงบริการและการคุ้มครองสิทธิมีช่องทางไหนบ้าง สามารถประสานหน่วยบริการได้ว่าจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง” น.ส.กิ่งแก้ว กล่าว